xs
xsm
sm
md
lg

ปกรณ์ห่วงธปท.ตรึงดอกเบี้ย แนะให้รอบคอบ "อัจนา" มั่นใจมาถูกทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานตลาดหุ้นเตือนแบงก์ชาติต้องคิดให้รอบคอบกรณีไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายหลังเฟดหั่นดอกเบี้ยจนส่วนต่างห่างจากไทย 1% กรรมการ กนง.ย้ำห่วงน้ำมันแพงดันเงินเฟ้อ "อัจนา" เผยไม่พบเงินไหลเข้าผิดปกติ มั่นใจจะดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนเกินพื้นฐานเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ชี้เงินบาทแข็งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยคนไทยสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาถูกลงและผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าได้รับรายได้มากขึ้น ค่าบาทวานนี้อ่อนค่าแตะ 31.32

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องรอบคอบในการพิจารณาในเรื่องอัตราดอกเบี้ยว่าจะมีการปรับลดหรือจะคงไว้ เพราะมีเหตุผลสนับสนุนให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และไม่ควรปรับลดดอกเบี้ย ฝ่ายสนับสนุนให้ปรับลดดอกเบี้ย คือ การที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯมีความห่างกับอัตราดอกเบี้ยไทย ถึง 1% และการที่เศรษฐกิจอเมริกาชะลอตัวจะทำให้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชีย และไทย ซึ่งจะมีผลทำให้ค่าเงินมีการแข็งข่าวขึ้น ซึ่งจะเป็นภาระให้แก่ ธปท.ต้องมีการดำเนินงานให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ และการที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศราฐกิจ โดยการลงทุนขนาดใหญ่ และสนับสนุนเม็ดเงินเข้าสู่รากหญ้าซึ่งตอบสนองกับนโยบายรัฐบาล

ขณะที่ฝ่ายที่คัดค้านการปรับลดอัตราดอกเบี้ย มองว่าจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงโดยที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยและประเทศต่างๆปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง กว่า 5% ทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆทั่วโลก มีความกังวลและจะมีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว อย่างใกล้ชิด ซึ่งธนาคารกลางของประเทศจีน และออสเตรเลียได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว

"ธปท.จะต้องติดตามว่าเฟดจะมีการดำเนินการอย่างไร ซึ่งตลาดมองว่าเฟดน่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 1% จากปัจจุบันที่ 2.25% ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยไทย กับ สหรัฐฯมีความห่างออกไปอีก โดยในเรื่องการจัดการในเรื่องดอกเบี้ยว่าจะลดหรือไม่ลดนั้น ทางธปท.และกนง.จะเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะทั้ง 2 หน่วยงานมีข้อมูลมากที่สุด" อดีตลูกหม้อ ธปท.กล่าว

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะกรรมการคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. เปิดเผยว่า การประชุมวันที่ 9 เมษายนนี้จะลดดอกเบี้ยลงหรือไม่อย่างไรคงจะต้องมีการพิจารณาหลายปัจจัยประกอบโดยเฉพาะปัจจัยภายในประเทศมากกว่าจะมาจากกรณีเฟดปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งจะต้องให้เกิดสมดุลในทุกส่วนทั้งภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และฝาก รวมไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย โดยปัจจัยเงินเฟ้อก็จะต้องพิจารณาทิศทางน้ำมันตลาดโลกที่ยังคงไม่ได้ปรับตัวลดลงแรงนัก ซึ่งจะดันให้ราคาสินค้า ต้นทุนขนส่ง และวัตถุดิบ ดังนั้น กนง.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

“ต้องยอมรับว่าขณะนี้ดอกเบี้ยเงินฝากของไทยกับเงินกู้นั้นห่างกันมากเพราะเมื่อเราลดดอกเบี้ยให้แล้วธนาคารพาณิชย์มักจะไม่ได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้มากแต่กลับไปลดดอกเบี้ยฝากมากกว่าที่ผ่านมาผู้ฝากเงินกลายเป็นคนซัพพอตแบงก์แทนเราห่วงจุดนี้เช่นกันกลายเป็นว่าแบงก์ได้ประโยชน์หากลดลงมากอีกผู้ฝากเงินอาจไม่อยากฝากจะเป็นปัญหาได้เช่นกัน” นายจักรมณฑ์กล่าว

***ธปท.ยันไม่พบเงินไหลเข้าผิดปกติ

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.ได้ติดตามดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความผันผวนและการแข็งค่าของเงินบาทที่เกินจนอาจจะสร้างผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศ ซึ่งหาก ธปท.ต้องการเห็นเงินบาทแข็งค่าในทิศทางเดียวคงไม่ต้องเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดูแลค่าเงินบาท จนส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจำนวนมากนับตั้งแต่ปี 2549 ที่ผ่านมา ดังนั้น ในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท.จะไม่ฝืนตลาด แต่ก็ไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันเมื่อเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดี และมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นก็มีส่วนที่ดีด้วย คือ คนไทยสามารถซื้อสินค้าจากต่างประเทศในราคาถูกลงและผู้ประกอบการที่มีการขายสินค้าในรูปเงินตราต่างประเทศก็จะได้รายได้มากขึ้น

“ธปท.ไม่ได้พอใจหรือยินดีที่เห็นค่าเงินบาทแข็งขึ้น และที่พูดว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้นจะช่วยชะลอการขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศในช่วงที่ผ่านมาให้ลดลงประมาณ 3-4 บาทนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ธปท.ต้องการให้ค่าเงินบาทแข็ง เพื่อพยุงราคาน้ำมัน แต่จะชี้ให้เห็นว่าทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย จึงต้องมีการปรับตัวไปพร้อมกันของทุกฝ่าย”นางอัจนา กล่าว

นางอัจนา กล่าวว่า หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.75% ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยห่างกับไทยถึง 1% นั้น ขณะนี้ธปท.ยังไม่พบว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาผิดปกติหรือในลักษณะการเก็งกำไร อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในสถานการณ์การเงินโลกในปัจจุบันความต่างของอัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นที่นักลงทุนพิจารณา แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ขณะเดียวกันหากพิจารณาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายในแต่ละประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย ไทยก็มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุดแล้ว

สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าเฟดมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าระดับปัจจุบัน คือ 2.25%ว่า ในส่วนตัวมองว่าเฟดจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่นิ่ง ซึ่งธปท.ก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเมื่อวานนี้ (20 มี.ค.) เริ่มอ่อนค่าลงมาแตะที่ระดับ 31.30 บาทต่อดอลลาร์ ไม่ได้เกิดจากการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท แต่เป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากตลาดต่างมองว่าเฟด ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% ถือว่าน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงถึง 1-1.25% ทำให้เชื่อว่าปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐอาจไม่ร้ายแรงนัก จึงเริ่มมีการนำเงินบาทไปแลกเป็นเงินดอลลาร์กลับไปยังสหรัฐมากขึ้น ส่วนราคาน้ำมันและทองคำเริ่มลดลงเช่นกันส่งผลให้มีนักลงทุนบางรายนำเงินดอลลาร์เข้าไปลงทุนซื้อทองคำและน้ำมันมากขึ้นด้วย

**ดอลลาร์รีบาวน์กดบาทอ่อน

นักค้าเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เงินบาทวานนี้อ่อนค่าลงจากวันก่อนหน้า โดยเปิดตลาดที่ระดับ 31.18-31.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าสุดของวัน และอ่อนค่าลงมาต่อเนื่อง ปิดตลาดที่ระดับ 31.30-31.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐและเป็นระดับที่อ่อนค่าสุดของวัน

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทวานนี้ น่าจะมาจากการที่เงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มมีการรีบาวน์หลังจากที่อ่อนค่าลงมาอย่างต่อเนื่อง และมีแรงซื้อดอลลาร์จากผู้นำเข้ามาด้วย โดยคาดว่าวันนี้ค่าเงินบาทจะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 31.25-31.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่แนวโน้มในระยะยาวค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น