xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน การเงิน:อัตราดอกเบี้ยไทยจะอยู่ระดับใด ณ สิ้นปี 2551

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฉบับนี้ ขอกลับมาเรื่องอัตราดอกเบี้ยของไทยอีกครั้งหนึ่งครับ หลังจากที่ไปเขียนเรื่องอื่นๆ เพื่อให้ข้อมูลด้านอื่นแก่ผู้อ่าน อย่างไรก็ตามผมมีความเห็นว่าเรื่องอัตราดอกเบี้ยของไทยยังเป็นเรื่องสำคัญสำหรับปีนี้และปีหน้า เนื่องจากจะเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยกำลังเข้าสู่จุดต่ำสุด และคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกประมาณ 1-2 ปี จากนั้นจึงจะปรับขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจของประเทศและโลก

ผมยังยืนยันว่าวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันนี้ยังเป็นช่วงขาลง ซึ่งผมได้เขียนถึงเรื่องนี้ไปครั้งหนึ่งแล้วในคอลัมน์นี้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมปีก่อนว่า แม้กระแสเงินเฟ้อของไทยจะค่อนข้างรุนแรงจากราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้นต่อเนื่อง แต่ทว่าแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ มีทิศทางจะลดลงมาก อีกทั้งการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวลงจากปี 2550 ขณะเดียวกันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะยังลดลงต่อเนื่องและในทางกลับกันเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น จึงคาดได้ว่าการส่งออกที่เป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบในครึ่งหลังของปีนี้ นอกจากนี้อุปสงค์ภาคเอกชนของไทยยังคงชะลอตัวอย่างมาก ปัจจัยโดยรวมทำให้ภาวะเศรษฐกิจไทยไม่เข้มแข็งนัก ดังนั้น การจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อจะกระทบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกจะกดดันให้ไทยต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงในที่สุด

ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าทำไมเมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนมาจนถึงปัจจุบัน แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงยังไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยอิงกับความเชื่อหรือทฤษฎีอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ว่า เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นมากกว่าอัตราดอกเบี้ย จะทำให้มีการเร่งการใช้จ่ายและนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ผมขออธิบายทฤษฎีนี้อย่างง่ายๆคือ เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปี จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากแท้จริง (ซึ่งก็คือ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ) เป็นลบ และการที่อัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบจะส่งผลให้ประชาชนใช้จ่ายในปัจจุบันมากกว่าจะออมเพื่อไปใช้จ่ายในอนาคต เนื่องจากถ้าออมเงินจนครบกำหนดและได้ดอกเบี้ยจากการออมแล้วจะซื้อสินค้าได้น้อยลงเพราะราคาสินค้าสูงขึ้น การเร่งการใช้จ่ายในปัจจุบันจะยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอีก

การวิเคราะห์ดังกล่าวน่าจะถูกต้องถ้าอยู่ในสถานการณ์ปกติ แต่ทว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ที่กระทบเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภาคเอกชนมากกว่า ซึ่งได้แก่ ภาวะการเมืองและวิกฤติการเงินของสหรัฐฯ ปัจจัยแรก ปัญหาและความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลให้การใช้จ่ายภาคเอกชนในปีที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะตกต่ำมาก โดยมีอัตราขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 ต่ำกว่าปี 2544 (เป็นปีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย และทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 2.2 ในปีนั้น) ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2540/41 ในปี 2544 อุปสงค์ภาคเอกชนยังขยายตัวร้อยละ 4.3 ซึ่งก็ยังสูงกว่าปี 2550 ที่ผ่านมา ปัจจุบันแม้จะผ่านการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่หลายเดือนแล้ว ทว่าสถานการณ์การเมืองก็ยังคลุมเครือ ผมจึงไม่คิดว่าอุปสงค์ภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนจะขยายตัวจนกลับไปสู่ระดับปกติในเร็ววันนี้

สำหรับปัจจัยที่สองคือ วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างมากและค่าเงินดอลลาร์ดิ่งลง ตลอดจนมีแนวโน้มที่จะดึงให้เศรษฐกิจโลกทรุดตัวลงตามไปด้วย วาณิชย์ธนกิจชั้นนำ เช่น CLSA คาดว่า วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการค้าของเอเชียตะวันออกรวมถึงไทยในครึ่งหลังของปีนี้ การลดลงของดอลลาร์สหรัฐฯ และดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ ธปท.ไม่สามารถปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้ โดยเฉพาะหลังจากที่ยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ไปแล้ว ทั้งนี้ เพราะธปท. คงไม่ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ มากนักจนจูงใจให้มีเงินไหลเข้าและทำให้เงินบาทแข็งค่าไปมากกว่าปัจจุบัน นอกจากนี้ การคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยจะชะลอตัวลงในครึ่งหลังของปีนี้ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศที่ยังอยู่ในสภาวะซบเซา เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงมากเกินไป

จากทั้ง 2 ปัจจัยและผลที่มีต่อเศรษฐกิจดังที่กล่าวข้างต้น แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ย โดยล่าสุดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.25-2.38 (เฉลี่ยธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคมอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ทำให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบถึงร้อยละ 2.92-3.05 แต่ทว่าผมก็ยังยืนยันว่าไม่จำเป็นที่ ธปท.ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ผู้อ่านอาจจะตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในขณะนี้จนทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มเรื่อยๆนั้น จะทำให้ ธปท.ต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ผมขอตอบว่าไม่จำเป็น เนื่องจากยังมีทางเลือกอื่นคือ การปล่อยให้เงินบาทแข็งขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน นอกจากนี้ผลรอบที่ 2 (Second Round Effect) ของราคาน้ำมันต่อเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำ เพราะอุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ ผู้ผลิตไม่สามารถผลักภาระไปยังผู้บริโภคได้มากนัก ขณะเดียวกันอุปสงค์ที่มีต่อแรงงานก็อยู่ในระดับต่ำตามภาวะเศรษฐกิจจึงทำให้แรงกดดันต่อการขึ้นค่าจ้างมีจำกัด สำนักวิจัยไทยธนาคารประเมินว่า ถ้าราคาน้ำมันดูไบ (Dubai) (ซึ่งต่ำกว่าราคา NYMEX ที่ใช้อ้างอิงทั่วไปประมาณร้อยละ 10) อยู่ที่ 110 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ราคา NYMEX จะอยู่ที่ประมาณ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 4 ของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 3 – 3.5 ซึ่งก็ไม่สูงเกินไปนัก ทำให้คาดว่า ธปท.สามารถที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ถ้าจำเป็น

คำถามที่สำคัญของบทความนี้ก็คือ อัตราดอกเบี้ยของไทยจะเป็นเท่าใด ณ สิ้นปี 2551 คำตอบคือ ขึ้นกับแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และราคาน้ำมัน
ถ้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ลดลงต่อไปอีกก็มีแนวโน้มว่า ธปท.จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อไม่ให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยห่างกันเกินไปนัก และเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ผมคาดว่า ณ สิ้นปีนี้ อัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rate ของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.00-1.50 คือจะลดลงจากปัจจุบันอีกประมาณร้อยละ 0.75-1.25 ขณะที่ผมคาดว่าราคาน้ำมันจะลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการชะลอตัวลงของอุปสงค์ตามฤดูกาลเมื่อหมดหน้าหนาว ขณะเดียวกันการเก็งกำไรราคาน้ำมันจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะหยุดเมื่อดอลลาร์เริ่มนิ่ง ซึ่งผมคาดว่า Fed จะหยุดลดดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 2-3 ปีนี้ และดอลลาร์น่าจะหยุดร่วงลง ดังนั้นราคาน้ำมันจะลดลงกลับไปสู่ระดับพื้นฐานในครึ่งหลังของปีนี้ อย่างไรก็ตาม จากแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่มีอยู่ ผมจึงคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.75 ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.50 แต่ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นคือ ถ้าราคาน้ำมันพุ่งขึ้นมากและหยุดไม่อยู่จนทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ธปท.ก็อาจไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีกเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น