xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ผวาน้ำมันดันเงินเฟ้อพุ่งสูงกว่า 5% ยันไม่หั่นดอกเบี้ยตามเฟด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัจนา ไวความดี
ธปท.ยันไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยตามเฟด ที่จะประชุมในวันพรุ่งนี้ ชี้ส่วนต่างสูงกว่า 1% ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะถ้าหักเงินเฟ้อ 5% แล้ว ถือว่ามีผลตอบแทนไม่น่าจูงใจ พร้อมแสดงความกังวลปัญหาราคาน้ำมันทะลุ 120 ดอลลาร์/บาร์เรล กดดันเงินเฟ้อในอัตราเร่ง ทั้งในด้านต้นทุนการผลิต และราคาสินค้า

วันนี้ (28 เม.ย.) นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงจะไม่ได้พิจารณาความเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ยในประเทศจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯเป็นหลัก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูง

ธปท.ไม่ห่วงภาวะเงินทุนไหลเข้าจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงอีกครั้งในการประชุมวันที่ 29-30 เม.ย.นี้ เพราะการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของไทยจะต้องขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูง เป็นประเด็นที่จำเป็นต้องเข้าไปดูแล โดยขณะนี้ราคาน้ำมันเป็นปัจจัยเสี่ยง แม้ยังอยู่ในประมาณการ แต่ยังไม่รู้ว่าจะปรับตัวขึ้นไปถึงระดับใด

“ตอนนี้น้ำมันที่อยู่ในช่วงประมาณการแบงก์ชาติสามารถคุมอยู่ แต่ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด” นางอัจนา กล่าว

สำหรับค่าเงินบาทในขณะนี้ไม่ผันผวนมาก เพราะก่อนหน้านี้แรงกดดันค่าเงินบาทมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และผู้ส่งออกเร่งเทขายเงินดอลลาร์ แต่ตอนนี้ทั้งสองปัจจัยลดลงแล้ว โดยผู้นำเข้าก็หันมาซื้อดอลลาร์กลับ เพราะกังวลน้ำมันแพง จึงเกิดความสมดุลระหว่างความต้องการเงินบาทและดอลลาร์ ทำให้บาทนิ่ง

ขณะที่แต่ละประเทศระมัดระวังเรื่องสภาพคล่องอยู่แล้ว ทำให้โอกาสเก็งกำไรค่าเงินจะมีน้อยลง เงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในประเทศขณะนี้มีทั้งเงินลงทุนโดยตรง (FDI) และเงินลงทุนในตลาดหุ้น โดยเงินที่ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นเป็นการเก็งกำไรระยะสั้น แต่ต่างชาติยังซื้อสุทธิ ซึ่งเงินที่ไหลเข้ามาในช่วง ก.พ.ถึงต้นเม.ย.เข้ามลงทุนในพันธบัตร 2 หมื่นล้านบาท แต่ถ้านับจากต้นปีถึงกลาง เม.ย.ลงทุนในพันธบัตรถึงหมื่นล้านบาทแล้ว

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทย โดยระบุว่า คงไม่จำเป็นต้องปรับตามสหรัฐ เราต้องดูสภาพเศรษฐกิจของเรา ถ้าเงินเฟ้อยังสูง ก็จำเป็นต้องดูแลอยู่ โดยที่ประชุมฯ กนง.ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา มีมติคงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) ระยะ 1 วัน ซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25% เป็นไปตามนักวิเคราะห์คาดไว้ โดยให้เหตุผลว่าความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในช่วงต่อไปมีมากขึ้น

นอกจากอัตราเงินเฟ้อแล้ว ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามดู แม้ว่าขณะนี้ราคาน้ำมันยังอยู่ในประมาณการที่ ธปท.คาดไว้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท.ปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบ ของปี 2551 เป็น เฉลี่ยที่ 93.3 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และกรณีที่แย่ที่สุด เพิ่มเป็นเฉลี่ยที่ 112.6 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลจากเดิม คาดการณ์เฉลี่ยที่ 85.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และที่ 100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลตามลำดับ

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทย ซึ่งหักด้วยอัตราเงินเฟ้อแล้วขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จึงไม่น่าจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าจะมีส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯและดอกเบี้ยไทยในระดับสูงถึง 1%

ส่วนค่าเงินบาทในช่วงนี้ นางสุชาดา กล่าวว่า แรงกดดันที่ส่งผลให้บาทแข็งค่ามีน้อยลง เนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลง ขณะที่ผู้ส่งออกชะลอการขายดอลลาร์ออกมา แต่ขณะเดียวกันผู้นำเข้าเริ่มเข้ามาซื้อดอลลาร์มากขึ้น ทำให้เกิดความสมดุลย์ในตลาดเงินส่งผลให้เงินบาทขณะนี้ค่อนข้างนิ่ง

ก่อนหน้านี้ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการฯ ธปท.ออกมาแสดงความกังวลถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญที่จะผลักดันภาวะเงินเฟ้อในอัตราเร่งนั้น ธปท.ได้มีการประเมินราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นไว้แล้วว่า จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง โดยในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับล่าสุดเดือน เม.ย. 2551 ธปท.ได้ปรับเพิ่มประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2551 จาก 85.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็น 112.6 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ ธปท.ประเมินไว้ อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังต้องติดตามราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด หากราคาปรับสูงขึ้นกว่านี้ ธปท.คงจะต้องมาประเมินสถานการณ์กันใหม่

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2551 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.8-6.0% จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 4.5-6.0% เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาสินค้าเกษตรดีขึ้นส่งผลให้มูลค่าการส่งออกปีนี้ของไทยไม่ลดต่ำลงอย่างที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อ ก็มีการปรับขึ้นเช่นกันเนื่องจากราคาสินค้าและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น มีผลต่อต้นทุนการผลิต ธปท.จึงได้ปรับประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจาก 2.8-4.0% ในการประมาณการครั้งก่อนเพิ่มเป็น 4.5% และเพิ่มประมาณเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจาก 1.3-2.3% เป็น 1.5-2.5%
กำลังโหลดความคิดเห็น