xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการฟันธงเฟดลดดบ.0.25%เงินเฟ้อกดดัน-รอผลมาตรการรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - นักวิชาการฟันธงเฟดลดดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 29-30 เมษาฯนี้ ระบุเหตุชะลอความร้อนแรงในการปรับลดจาก panic ซับไพรม์ลดลง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และยังรอดูผลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่เพิ่งออกไป ขณะที่คาด กนง.ยังคงดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อ

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดในการประชุมตามวาระปกติรอบที่สามของปีในวันที่ 29-30 เมษายน 2551 คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% เหลือ 2.00% ซึ่งเป็นการปรับลดในอัตราที่ชะลอลงจากครั้งก่อนๆ เนื่องจากขณะนี้ความตื่นตระหนกจากวิกฤตซับไพรม์ได้ลดลงแล้ว ขณะที่เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร่งขึ้น และทางรัฐเองก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆออกมาแล้ว อาทิ การคืนเงินภาษีจำนวน 168,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น ทำให้ทางเฟดน่าจะรอดูผลจากมาตรการดังกล่าวก่อน

"หากมีการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้แล้ว คาดว่าในการประชุมครั้งหน้าเฟดน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนเพื่อรอดูผลจากมาตรการต่างๆ และเชื่อในครั้งปีหลังน่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกรอบ เนื่องจากเท่าที่ดูผลการสำรวจ พบว่ามาตรการที่ออกจะช่วยกระตุ้นการลงทุนได้น้อยมาก คือคาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มเพียง 20% นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ยังมีอีกที่ต้องสะสางอีกมาก"นายบันลือศักดิ์กล่าว

สำหรับประเทศไทยนั้น เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนในการประชุมเดือนหน้า แม้ว่าส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อมีสูงขึ้น ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจยังพอที่จะเติบโตได้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ แต่ในช่วงปลายไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4 น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งหลังแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเริ่มน้อยลง จากอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เฟดอาจมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกร้อยละ 0.25 จาก 2.25% มาที่ 2.00% พร้อมทั้งมีแนวโน้มจะดำเนินมาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านเครื่องมือทางการเงินต่างๆ อย่างต่อเนื่องควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อพยุงเศรษฐกิจจากภาวะชะลอตัวที่รุนแรง และเอื้อให้ตลาดการเงินสหรัฐฯสามารถปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยไม่เกิดปัญหาสภาพคล่องที่เลวร้ายลงไปอีก ในขณะที่ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯในช่วงที่เหลือของปี คงจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญและสถานการณ์ความคืบหน้าของปัญหาในตลาดการเงินสหรัฐฯเป็นหลัก แต่โอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแรงๆ อีก คงจะมีจำกัด เพราะการดำเนินการดังกล่าวโดยลำพัง นอกจากอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องได้มากนักแล้ว ยังอาจสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อให้กลายเป็นความเสี่ยงที่มีน้ำหนักมากขึ้นในอนาคต

ในขณะเดียวกัน เป็นที่คาดหวังกันว่า การลดอัตราดอกเบี้ยลงมาแล้วอย่างมากของเฟดในช่วงที่ผ่านมา จนล่าสุดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่แท้จริงหลังหักเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI Inflation) มีระดับต่ำกว่าศูนย์ ผนวกกับมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมากเข้าสู่ระบบการเงิน ตลอดจนมาตรการทางการคลังของรัฐบาลบุช น่าที่จะเอื้อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯและสถานการณ์ในตลาดการเงินทยอยปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ แม้อาจต้องใช้ระยะเวลาอีกนานพอสมควรก็ตาม

สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทยนั้น หากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาที่ 2.00% ในการประชุมวันที่ 29-30 เมษายน 2551 จริงตามที่คาด ค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯที่อาจกว้างขึ้นจาก 1.00% มาเป็น 1.25% แม้ว่าอาจมีผลให้เกิดการไหลเข้าสุทธิของเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศมายังประเทศไทย และสนับสนุนให้เงินบาทมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่จนถึงขณะนี้ ผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวก็ยังไม่ปรากฏชัดเจนนัก และไม่น่าจะเป็นข้อกังวลจนเกินไป หากเศรษฐกิจไทยสามารถจะฟื้นตัวขึ้นได้ตามที่คาดหวัง เนื่องจากการขยายตัวของการลงทุนคงจะทำให้ความต้องการเงินตราต่างประเทศเมื่อเทียบกับเงินบาทมีระดับที่สมดุลมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น