xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เมินเฟดลดดอกเบี้ย ห่วงน้ำมันกดดันเงินเฟ้อ-บาทผันผวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมอเลี้ยบให้อำนาจ กนง.กำหนดดอกเบี้ย ผู้บริหารแบงก์ชาติยันประชุมตามวาระปกติ 9 เม.ย. ไม่จำเป็นต้องฉุกเฉิน ลั่นคุมเงินเฟ้อเป็นหลัก "อัจนา" ยกกรณีลดดอกเบี้ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต เคยพังที่สหรัฐมาแล้ว ส่วนบาทแข็งไม่มีปัญหาในการแข่งขัน "ธาริษา" เผยไทยสูญเสียความสามารถการแข่งขันแค่ 1.8% เทียบกับจีนที่แข็งเพิ่มถึง 8% ด้านเงินบาทถูกแทรกแซงปิดที่ 31.39 คาดวันนี้ผันผวนแข็งค่า

จากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลงจาก 3.50% เหลือ 3.25% โดยให้มีผลทันที เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องแก่แบร์ สเติร์น วาณิชธนกิจอันดับ 5 ของสหรัฐ การตัดสินใจดังกล่าวทำให้ตลาดคาดว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) จะลดดอกเบี้ยนโยบาย (ดอกเบี้ยระยะสั้น) ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ อย่างน้อย 0.75%

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ยอมรับว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานเป็นกรณีฉุกเฉิน 0.25% เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องติดตามวงในอย่างใกล้ชิด แต่อัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับลดลงตามหรือไม่ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในประเทศคู่แข่ง ซึ่งหลังจากยกเลิกมาตรการสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าระยะสั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

"การแทรกแซงค่าเงินบาทหรือไม่ก็เป็นหน้าที่ที่ ธปท.จะพิจารณา ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าผิดปกติแตกต่างจากเพื่อนบ้าน ธปท.ก็คงต้องเข้าไปดู แต่ขณะนี้ยังไม่มีปัญหา" รมว.คลังย้ำและว่า ประเทศไทยถือว่าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐค่อนข้างน้อย เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยเคยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก แต่หลังจากรัฐบาลเข้ามาวางนโยบายด้วยการเร่งขยายภาคการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงการผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้ผลกระทบจากสหรัฐมีไม่มากนัก

***ธปท.เมินเฟดลดดอกเบี้ย

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท. กล่าวว่า จะไม่มีการประชุม กนง. เพื่อพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยก่อนการประชุมปกติในวันที่ 9 เม.ย. เนื่องจากเห็นว่า สถานการณ์ในขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนจนกระทั่งจำเป็นต้องมีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นวาระฉุกเฉิน

สำหรับปัจจัยหลักที่จะนำมาพิจารณาเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้ายังเป็นเรื่องราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ลุกลามมาในภาคการเงิน และสถาบันการเงิน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งเศรษฐกิจโลก

ด้านนางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าฯ ธปท.สายเสถียรภาพการเงิน กล่าวว่า ปัจจัยที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ ยังคงเป็นราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ และส่งผลให้ต้นทุนการผลิต การขนส่งสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นในช่วงนี้ สูงกว่าการคาดการณ์ที่ ธปท.ประเมินไว้แล้ว

พร้อมยกตัวอย่าง เมื่อครั้งวิกฤตราคาน้ำมัน (ออยช็อก) ในครั้งที่ 2 ซึ่งเฟด ใช้วิธีลดดอกเบี้ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต และชดเชยกำลังซื้อที่หายไป แต่ไม่ได้ผล และทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น แม้เฟดจะกลับมาปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่ก็ไม่สามารถคุมเงินเฟ้อได้ ดังนั้นการจะลดดอกเบี้ยช่วยหรือไม่อาจจะไม่ถูกทั้งหมดเพราะมันขึ้นอยู่ว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะอย่างไรด้วย

ส่วนการการปรับลดดอกเบี้ยลงมากๆ ของเฟด จะเป็นแรงกดดันให้ไทยลดดอกเบี้ยตามหรือไม่นั้น นางอัจนากล่าวว่า เฟดลดดอกเบี้ยเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ต้องดู แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะนำมาตัดสินทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย

สำหรับเงินทุนไหลเข้าหลังยกเลิกมาตรการ 30%นั้น ธปท. ยังไม่พบว่าเงินทุนไหลเข้าเปลี่ยนแปลงจากเดิมชัดเจน แต่พบการไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรมากขึ้น เพราะมีอัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยตอบแทนชัดเจนแต่ยังไม่มีข้อมูลชัดว่ามีการเก็งกำไรเกิดขึ้น

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวในงานสัมมนา ที่จัดโดยสำนักข่าวจิจิ เพรส ในหัวข้อเรื่อง “ผลกระทบจากสถานการณ์ค่าเงินปัจจุบันต่อธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น” วานนี้ (17 มี.ค.) ว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ดูแลให้เกิดเสถียรภาพทางด้านราคา ยังจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างยั่งยืน โดยนโยบายการเงินในปัจจุบันไม่อยู่ในช่วงที่ไม่เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวต่อเศรษฐกิจ โดยอัตราดอกเบี้ยของไทยในขณะนี้ น่าจะสามารถทำให้การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินในช่วงต่อไป

“แม้ว่าค่าเงินบาทของไทยจะแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐต่อเนื่อง แต่เป็นการแข็งค่าที่สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค และหากพิจารณาความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทยที่แท้จริง จะพบว่าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันน้อยมาก ตั้งแต่ต้นปี 2550 ถึงต้นเดือนมี.ค.นี้ ดัชนีค่าเงินที่แท้จริงของจีนแข็งขึ้น 8% อินเดียแข็งขึ้น 5.4% ในขณะที่ของไทยแข็งขึ้นเพียง 1.8% เท่านั้น เพราะความสามารถในการแข่งขัน ต้องดูทั้งอัตราแลกเปลี่ยนฯ และเงินเฟ้อ ไปพร้อมกัน โดยธปท.ยังควบคุมเงินเฟ้อของได้ดีกว่าหลายประเทศ”

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกรรมการ กนง. ย้ำว่า การตัดสินใจลดดอกเบี้ยหรือไม่ของไทยจะไม่เกี่ยวข้องกับเฟดแต่จะดูจากภาวะเศรษฐกิจไทยเป็นหลักใน 2 ประเด็นคือ ภาวะเงินเฟ้อ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งยอมรับว่าทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกยังสูงจะส่งผลให้ราคาสินค้าในไทยขยับตามอีกดังนั้นก็จะมีผลให้ภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวก็จะเป็นทุกประเทศเช่นกัน

นักค้าเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินบาทวานนี้เคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน โดยในช่วงแรกของการเปิดตลาดได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินของเฟด ซึ่งค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นถึงระดับ 31.30-31.31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นก็มีแรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐกลับเข้ามาทำเงินบาทอ่อนค่าลง และเคลื่อนไหวผันผวนจนกระทั่งปิดตลาดอยู่ในระดับ 31.39-31.41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

"เงินบาทผันผวนแรง หลังพุ่งแข็งค่าขึ้นในช่วงเช้า หลังจากนั้น ก็มีทั้งแรงซื้อและแรงขายดอลลาร์สลับกันออกมา ทำให้ค่าเงินบาทวิ่งขึ้นลงตลอดจนกระทั่งปิดตลาด ซึ่งการที่เงินบาทกลับอ่อนค่าลงมานั้น ก็อาจจะเป็นแรงซับพอร์ตจากทางการก็ได้" นักค้าเงินกล่าว

สำหรับทิศทางการเคลื่อนไหวนั้น แม้ว่าเฟดจะมีการปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉินในครั้งนี้แล้ว แต่ก็ยังคงมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ในการประชุมวันที่ 18 มีนาคมนี้ ดังนั้นทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐจึงยังอ่อนค่าอยู่ ซึ่งก็จะทำให้เงินบาทคงจะผันผวนแข็งค่าขึ้นต่อ

***นิด้าชี้อสังหาริมทรัพย์ดี-ส่งออกแย่

ผศ.ดร. กำพล ปัญญาโกเมศ, CFA,FRM ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาการลงทุน และการจัดการความเสี่ยง หรือ FIRM คณะบริหารธุรกิจ นิด้า ให้ความเห็นกรณีที่จะมีการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ ในวันที่ 18 มีนาคมนี้ว่า การลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นถือเป็นมาตรการที่จะเห็นผลเร็วที่สุดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่สหรัฐฯ เผชิญอยู่ในปัจจุบัน และจากการติดตามถ้อยแถลงของ นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเห็นได้ว่ามีความเป็นห่วงปัญหาเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าปัญหาเงินเฟ้อ

“คาดว่าเฟดน่าจะลดดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.50% หากเฟดลดดอกเบี้ยลงแรงกว่าที่ตลาดคาดก็จะมีผลบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวจะต้องดูผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อด้วย เนื่องจากเงินเฟ้อเป็นปัญหาที่สำคัญและถูกติดตามอย่างใกล้ชิดจากธนาคารกลางในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ จีน รัสเซีย อังกฤษ รวมถึงไทย”

ผู้อำนวยการหลักสูตร FIRM ของนิด้า กล่าวด้วยว่าผลกระทบที่จะต่อเนื่องมายังตลาดเงินตลาดทุนของไทยก็คือ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของไทยน่าจะต้องปรับลดลงด้วย และตลาดหุ้นน่าจะได้รับผลทางบวกในระยะสั้นเช่นกัน โดยธุรกิจที่จะได้รับผลดีอย่างชัดเจนก็คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนอกจากเรื่องดอกเบี้ยแล้ว ยังได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลทางด้านภาษีที่เพิ่งประกาศออกมา และความชัดเจนเรื่องของโครงการลงทุนในรถไฟฟ้าสายต่างๆ ด้วย
\
อย่างไรก็ตาม ยิ่งสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ย ค่าเงินดอลลาร์ก็จะยิ่งอ่อนลงอีกเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างๆ รวมถึงเงินบาทด้วย ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยด้วย ซึ่งผู้เกี่ยวข้องจะต้องหาทางรับมือในเรื่องนี้ด้วย

“ตอนนี้สหรัฐฯ มีเครื่องมือไม่มากนักในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หากลดดอกเบี้ยครั้งนี้แล้วยังไม่ได้ผลก็คงลำบาก เพราะถ้าจะลดดอกเบี้ยลงไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นการสร้างปัญหาใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องเงินเฟ้อ ยิ่งในภาวะที่ราคาน้ำมันแพงเช่นปัจจุบันนี้ก็ยิ่งทำให้การแก้ปัญหายากยิ่งขึ้น” ผศ.ดร.กำพลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น