xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.ยูไนเต็ดติดเครื่อง Q2 เล็งบุกตลาดไพรเวต ฟันด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“บล.ยูไนเต็ด”พร้อมเต็มสูบทั้งบุคลากร และระบบเทคโนโลยี สำหรับประกอบธุรกิจบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ระบุรอแค่ใบไลเซนต์ก็จะเปิดดำเนินการได้ในทันที คาดต้นไตรมาส 2 ตัดริบบิ้น เผยเป้าหมายแรก บุกตลาดไพรเวต ฟันด์ เจาะกลุ่มลูกค้าเศรษฐกิจทั้งไทยและญี่ปุ่น ส่วนธุรกรรมกองทุนรวม จะเริ่มออกขายได้ในปีหน้า ขณะเดียวกันประธานกลุ่ม Apf Group ปฏิเสธข่าวลือเตรียมเทคโอเวอร์กิจการประกันภัย แต่ยอมรับสนใจอยากมีเก็บสะสมไว้

นายเจเรมี เหลียว กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ยูไนเต็ต จำกัด (มาหชน) (US) ในเครือ เอเชียพาร์ทเนอร์ชิพ ฟันด์ กรุ๊ป (Apf Group) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูไนเต็ด จำกัด (UNITED ASSET MANAGEMENT COMPANY LIMITED) ว่า ขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลกับกระทรวงการคลัง และดำเนินการเจรจาทำความตกลงในสัญญาร่วมลงทุนได้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขณธนี้อยู่ระหว่างการรอรับใบอนุญาตดังกล่าวจากภาครัฐ ซึ่งคาดว่าในต้นไตรมาส 2 ประมาณช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคมนี้จะสามารถเริ่มเปิดให้บริการธุรกิจดังกล่าวแก่นักลงทุนได้แน่นอน

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงเริ่มให้บริการนั้น บริษัทวางแผนที่จะดำเนินธุรกิจในส่วนของกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) เป็นธุรกรรมหลัก หรือเน้นดำเนินธุรกรรมดังกล่าวมากเป็นพิเศษในช่วงแรก เนื่องจากมองว่าลูกค้าระดับที่สามารถนำเงินมาลงทุนโดยจัดตั้งเป็นกองทุนส่วนบุคคลนั้นยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่สัดส่วนลูกค้านั้นจะมีทั้งนักลงทุนชาวไทย และนักลงทุนญี่ปุ่นในสัดส่วน 50:50 และกลุ่มลูกค้าประเภทนี้มีความสนใจที่จะจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคลโดยเฉพาะอยู่หลายราย

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนมีที่จะจัดตั้งกองทุนรวม (Mutual Fund) ทั่วไปออกเสนอขายนักลงทุนเช่นกัน แต่ไม่สามารถจัดทำโปรดักต์ดังกล่าวออกมาได้ในภายในปีนี้ โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นโปรดักต์ประเภทกองทุนรวมของบริษัทได้ในช่วงปี 2552

“เรามีความพร้อมที่จะดำเนินการให้บริการธุรกิจบริหารจัดการกองทุนแก่นักลงทุนทุกท่าน ซึ่งขณะนี้เรารออยู่เพียงให้แค่ได้รับใบอนุญาตจากทางภาครัฐเท่านั้น โดยในส่วนของพื้นที่สำนักงาน ในเรื่องบุคลากร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น เรามีความพร้อมเป็น ที่เรียบร้อยแล้ว”

กรรมการผู้จัดการ บล.ยูไนเต็ด กล่าวเพิ่มเติมว่า ลูกค้าที่จะมาใช้บริการของบลจ.ยูไนเต็ดนั้น จะไม่ใช่ลูกค้าจาก บล.ยูไนเต็ดเพียงอย่างเดียว เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของบล.ยูไนเต็ดส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนที่นิยมและมีความสนใจเข้าลงทุนในหลักทรัพย์มากกว่า ดังนั้นกลุ่มนักลงทุนที่จะเข้ามาเป็นลูกค้าของบริษัทนั้นส่วนหนึ่งจะเป็นลูกค้าใหม่ที่มีความสนใจลงทุนผ่านกองทุนโดยตรง

สำหรับการจัดตั้งบลจ.แห่งนี้จะเป็นการร่วมลงทุนกันระหว่างบล.ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) (US) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกลุ่มเอเชียพาร์ทเนอร์ชิพ ฟันด์ กรุ๊ป และกลุ่มว่องกุศลกิจ ซึ่งเป็นอดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ของบล.ยูไนเต็ด โดยโครงสร้างการถือหุ้น ประกอบด้วย บล.ยูไนเต็ด ในสัดส่วน 51% ส่วนกลุ่มว่องกุศลกิจจะถือหุ้นในบลจ.ในสัดส่วน 49% และทั้ง 2 ฝ่ายจะส่งตัวแทนเข้ามาบริหารงานบริษัทแห่งใหม่ร่วมกัน
โดยสาเหตุที่กลุ่ม APF ตัดสินใจทำธุรกิจบลจ.ร่วมกับกลุ่มว่องกุศลกิจ เนื่องจากกลุ่มต้องการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนที่มีความน่าเชื่อถือในไทย และกลุ่มว่องกุศลกิจนับว่าเป็นพันธมิตรที่ดีกับทางAPF และบล.ยูไนเต็ดมาโดยตลอด นับตั้งแต่ทางกลุ่มAPF ได้เข้ามาซื้อหุ้นในธุรกิจบล.ยูไนเต็ด ทั้งนี้ในช่วงเริ่มต้นบลจ.นี้ จะเน้นการทำธุรกิจภายในประเทศไทยก่อน เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพการลงทุนที่ดี

ทั้งนี้ บลจ.ยูไนเต็ด มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ด้วยทุนจดทะเบียน 25,000,000 บาท แบ่งเป็น 250,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท โดยมีทุนชำระแล้วซึ่งเรียกชำระครั้งแรก 25% และจะชำระเต็มมูลค่าเมื่อได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง โดยจำนวนเงินลงทุนดังกล่าวได้แจ้งแก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แล้วเมื่อวันนี้19 ธันวาคม 2550 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ไม่เกิน 12.75 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.8% ของสินทรัพย์รวมของUS ณ วันที่ 30 กันยายน 2550

ด้าน นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอเชียพาร์ทเนอร์ชิพ ฟันด์ กรุ๊ป (APF Group) กล่าวว่าปัจจุบันทางกลุ่มAPF Group มีแผนที่จะขยายการทำธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้เข้ามาบริหารงานใน บล. ยูไนเต็ด และบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL รวมทั้งบริษัทอื่นๆในประเทศไทย แล้ว ในปีนี้APF Group มีวัตถุประสงค์ ที่จะจัดตั้งกลุ่มธุรกิจสถาบันการเงินที่ไม่ใช้ธนาคาร (Nonbank finance group) แบบครบวงจรในประเทศไทยและภูมิภาค ซึ่งรวมไปถึงการจัดตั้งบลจ. แห่งใหม่ด้วย

ขณะเดียวกัน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APF Group กล่าวว่า ทางกลุ่มมีความสนใจที่จะเข้าซื้อกิจการหรือร่วมทุ่นกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจประกันภัยด้วยเช่นกัน แต่ขอปฏิเสธข่าวลือเกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เช่นเดียวกับแผนการลงทุนในกิจการอื่นๆเนื่องจากทางกลุ่มไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลในเรื่องดังกล่าวได้ นอกเหนือจากการเข้าซื้อกิจการ ซีโวล่า รีสอร์ท บนเกาะพีพี มูลค่า 630 ล้านบาท จากบริษัท พี.พี.คอรัล รีสอร์ท จำกัด ในเครือ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เมื่อเร็วๆนี้

ส่วนผลการดำเนินงานของธุรกิจของบล.ยูไนเต็ด นายมิทซึจิ กล่าวว่า ความผันผวนของดัชนีในปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบล แต่ บล.ยูไนเต็ดยังสามารถทำผลกำไรจากการดำเนินการได้ รวมทั้งบริษัทยังมีการพัฒนาในเชิงธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องเน้นยำว่า การขยายส่วนแบ่งการตลาดนั้นไม่ใช้เป้าหมายหลักของ US อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ โดยงานด้านวานิชธนกิจนั้น นอกจากการเป็นที่ปรึกษาให้แก่บริษัทในเครือแล้ว USยังมีบริษัทอื่นๆ โดยเฉพาะลูกค้าของ APF Group เข้ามาติดต่อให้ดำเนินการด้านวานิชธนกิจ ด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเลือกลูกค้า นอกจากนี้หากมีบริษัทในประเทศญี่ปุ่นหรือบริษัทที่เป็นสถาบันแสดงความต้องการเข้ามา ทาง US เองมีความพร้อมที่จะขยายงานในจุดนี้เพิ่มเติม เช่นกัน

นอกจากนี้ ในเรื่องการขยายธุรกิจไปสู่ต่างประเทศของ บล.ยูไนเต็ด นั้นขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาการจัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (ไลเซนต์) รวมทั้งแนวคิดการเข้าร่วมทุนกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจดังกล่าวอยู่แล้ว ซึ่งอาจเป็นการเข้าไปถือหุ้นใหญ่ เพื่อเพิ่มช่องทางในการขยายธุรกิจ รวมทั้งฐานลูกค้าของบริษัทด้วย

"ปีนี้เรายังคงพยายามที่จะนำนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม รวมทั้งอยากชวนให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในญี่ปุ่นด้วย เนื่องจากยังมีหลายบริษัทในญี่ปุ่นที่ศักยภาพดี และมีราคาหุ้นถูก เหมาะแก่การเข้าลงทุน ขณะเดียวกันหาก US ได้รับอนุญาติให้ประกอบธุรกิจในญี่ปุ่นได้ ก็คงจะมีการลงทุนผ่าน US แต่ตอนนี้กระบวนการดังกล่าวยังไม่ชัดเจน และมีหลายแนวทางที่จะสามารถดำเนินการได้ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบริษัทที่มีใบอนุญาตการลงทุนในญี่ปุ่นอยู่แล้ว หรือ การขอใบอนุญาตใหม่" นายมิทซึจิ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น