xs
xsm
sm
md
lg

"บุช" ยัวะโอเปก ตรึงการผลิต น้ำมันโลกพุ่งพรวดเดียว 5 ดอลลาร์/บาเรล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปธน.บุช ยัวะผลประชุมฯ "โอเปก" มีมติไม่เพิ่มกำลังการผลิต แม้ราคาน้ำมันทุบสถิติใหม่ที่ระดับ 104 ดอลลาร์/บาเรล พุ่งขึ้นพรวดเดียวถึง 5 ดอลลาร์ ปธ.โอเปก ชี้ชัดผลกระทบความผันผวน เกิดจากเงินดอลลาร์อ่อนค่า และความตึงเครียดระหว่างประเทศ สหรัฐควรต้องร่วมรับผิดชอบ โวยผลกระทบไม่ใช่ปัญหาการเพิ่มหรือลดกำลังการผลิต

วันนี้(6 มี.ค.) สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐอเมริกา ได้แสดงความผิดหวังอย่างมากที่กลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปก) มีมติในการตัดสินใจที่จะไม่เพิ่มเพดานการผลิต ในการประชุมเมื่อคืนนี้ โดยข่าวดังกล่าวส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งที่ระดับ 104 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พุ่งขึ้นทีเดียว 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่โอเปกตัดสินใจตรึงเพดานการผลิตได้ไม่นาน ประธานาธิบดี บุช ก็ได้แสดงความผิดหวัง โดยนางดานา เพริโน โฆษกทำเนียบขาวกล่าวว่า บุชต้องการเห็นโอเปกตัดสินใจแตกต่างจากนี้ เขารู้สึกผิดหวังมากที่โอเปกไม่เพิ่มเพดานการผลิต

ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีชาติสมาชิกโอเปก มีขึ้นที่กรุงเวียนนา ของออสเตรีย โดยมีนายชากิบ เคลิล รัฐมนตรีพลังงานของแอลจีเรีย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานโอเปก ซึ่งออกมาให้สัมภาษณ์ ภายหลังการประชุมฯ โดยระบุว่า ขณะนี้ ทางกลุ่มโอเปกมีปริมาณการผลิตน้ำมันอยู่ที่วันละ32,000,000 บาร์เรล ดังนั้น ตลาดจึงยังคงมีอุปทาน (ซับพลาย) น้ำมันอย่างเพียงพอ และโอเปกยังมองไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงนี้

ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกมองว่า หากโอเปกเพิ่มการผลิตให้อยู่ในระดับ 300,000 -500,000 บาร์เรลต่อวัน ก็น่าจะลดความร้อนแรงของราคาน้ำมันในตลาดโลก และจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ หลังจากการประชุมฯ นายโอมาร์ อิบรอฮิม โฆษกกลุ่มโอเปก ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ โดยย้ำว่า ที่ประชุมมีมติที่จะรักษาปริมาณการผลิตเท่าเดิมต่อไป เนื่องจาก โอเปกมองว่า ราคาน้ำมันโลกที่ทำสถิติใหม่ในขณะนี้ เป็นผลจากปัจจัยที่โอเปกไม่สามารถจะควบคุมได้ เช่น การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ และการเก็งกำไร ไม่ได้เกิดจากตลาดขาดแคลนน้ำมัน

"นายชากิบ เคลิล ประธานโอเปคมองว่าราคาน้ำมันในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลง สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง การเก็งกำไรในตลาด และสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างประเทศ เมื่อมองจากภาพรวมแล้วโอเปกเห็นว่าสหรัฐควรจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบที่มีส่วนทำให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้"

นอกจากนี้ การที่ความต้องการน้ำมันดิบมีแนวโน้มชะลอตัวลงในไตรมาส 2 สมาชิกหลายประเทศของโอเปคจึงได้เสนอให้มีการปรับลดเพดานการผลิตก่อนการประชุมในครั้งนี้ แต่ท้ายที่สุดโอเปกมีมติให้ตรึงเพดานการผลิตไว้ก่อน เพราะโอเปกกังวลว่าการลดเพดานการผลิตในระยะนี้อาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดน้ำมันโลก แต่หากจำเป็นโอเปกก็จะดำเนินการตัดสินใจเรื่องเพดานการผลิตก่อนการประชุมในเดือน ก.ย.นี้"

โดยโอเปกตัดสินใจตรึงเพดานการผลิตไว้เท่าเดิมที่ 29.67 ล้านบาร์เรล/วัน ภายหลังการประชุมครั้งที่ 148 ที่กรุงเวียนนา เมื่อคืนนี้

**น้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กทะยาน 104 ดอลลาร์

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอกร์กของสหรัฐ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือน เม.ย. ปิดพุ่งขึ้น 5 ดอลลาร์ แตะระดับ 104.52 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือน เม.ย. ปิดเพิ่มขึ้น 11.3 เซนต์ แตะระดับ 2.6421 ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือน เม.ย. ปิดเพิ่มขึ้น 15.13 เซนต์ แตะระดับ 2.9431 ดอลลาร์สหรัฐต่อ
แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดเพิ่มขึ้น 4.12 ดอลลาร์ แตะระดับ 101.64 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

นายทิม อีแวนส์ นักวิเคราะห์จากซิตี้กรุ๊ปในกรุงนิวยอร์กกล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบร่วงลงทันทีที่โอเปคตัดสินใจตรึงเพดานการผลิตไว้เท่าเดิมที่ 29.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยนายชากิบ เคลิล ประธานโอเปก ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมว่า ราคาน้ำมันในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลง สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง การเก็งกำไรในตลาด และสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อมองจากภาพรวมแล้วโอเปกเห็นว่าสหรัฐควรจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบที่มีส่วนทำให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้

ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อคืนนี้ มาจากรายงานของกระทรวงพลังงานสหรัฐที่ระบุว่า สต็อคน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 29 ก.พ.ร่วงลง 3.1 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ธอมสัน ไฟแนนเชียลคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.07 ล้านบาร์เรล

ขณะที่สตอกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 344,000 บาร์เรล และสต็อคน้ำมันกลั่นซึ่งรวมถึงเชื้อเพลิงดีเซลและน้ำมันฮีทติ้งออลย์ ลดลง 2.4 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะลดลงเพียง 1.9 ล้านบาร์เรล ส่วนอัตราการกลั่นปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2% แตะระดับ 85.9%
กำลังโหลดความคิดเห็น