xs
xsm
sm
md
lg

“บุช” ผิดหวังโอเปกไม่เพิ่มเพดานผลิต ดันราคาน้ำมันทำนิวไฮทะลุ $104

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐฯ “ผิดหวัง” ที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เลือกที่จะไม่เพิ่มเพดานการผลิต ทำเนียบขาว ระบุ เมื่อวันพุธ (5) ขณะเดียวกัน ข่าวไม่ปรับเพดานการผลิตดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งที่ 104 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

“เขาต้องการเห็นโอเปกตัดสินใจแตกต่างจากนี้ เขารู้สึกผิดหวังมากที่พวกเขาไม่ไม่เพิ่มเพดานการผลิต" โฆษกทำเนียบขาว ดานา เปริโน บอกภายหลังรัฐมนตรีชาติสมาชิกองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ลงมติเมินเรียกร้องของผู้นำสหรัฐฯ และคงปริมาณการผลิตไว้เท่าเดิม ดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่ง 104 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อวันพุธ

บุช “ไม่เชื่อว่าจะเป็นแนวคิดที่ดีต่อผู้ซื้อรายใหญ่ของพวกเขา อย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งเศรษฐกิจชะลอตัว โดยส่วนหนึ่งมาจากราคาแก๊สที่พุ่งสูงขึ้น” เปริโน กล่าวต่อว่า “เรารู้ว่าความต้องการของโลกเพิ่มสูงขึ้นและซัปพลายคับขัน ดังนั้นเราจึงหวังเห็นโอเปกเพิ่มเพดานการผลิต”

ภายหลังการประชุมรัฐมนตรีชาติสมาชิกองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ประชุมกันที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย ทางชากิบ เคลิล รัฐมนตรีพลังงานของอัลจีเรีย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานโอเปก กล่าวว่า “ตอนนี้ โอเปกมีปริมาณการผลิตน้ำมันอยู่ที่ 32,000,000 บาร์เรลต่อวัน ดังนั้น ตลาดจึงยังคงมีซัปพลายน้ำมันอยู่เพียงพอ”

โอเปกมีโควตาการผลิตอยู่ที่วันละ 29,670,000 บาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าระดับที่โอเปกผลิตจริงๆ ในแต่ละวัน

เคลิล กล่าวว่า การที่โอเปกตัดสินใจเพิ่มปริมาณการผลิตเมื่อเดือนกันยายน ปี 2007 ไม่ได้ช่วยหยุดกระแสการพุ่งของราคาน้ำมันในตลาดโลก อีกทั้งปริมาณน้ำมันดิบน่าจะเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่2ของปีนี้ ในช่วงที่การบริโภคน้ำมันลดลงหลังฤดูหนาวผ่านพ้นไปแล้ว นอกจากนี้ ดีมานด์น้ำมันที่ลดลงหลังสิ้นสุดฤดูหนาว อาจดิ่งลงมากขึ้นสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ขณะเดียวกัน อาลี อัลนูไอมี รัฐมนตรีน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย ชาติผู้ทรงอิทธิพลในโอเปกและเป็นพันธมิตรผู้ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ก็แถลงว่าโอเปกไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการผลิต

“ทำไมเราถึงต้องใช้มาตรการใหม่ด้วย ในเมื่อตลาดน้ำมันก็ยังคงอยู่ในสภาพดี” นูไอมี กล่าว

“ราคาน้ำมันในปัจจุบันไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานของตลาดเลยแม้แต่น้อย ราคาน้ำมันเกี่ยวข้องกับตลาดซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งก็เห็นกันอยู่ว่ามีแรงเก็งกำไรอย่างน่างงงวย แรงเก็งกำไรนี้ไม่เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานที่สมดุลของตลาดน้ำมัน...สถานการณ์ในตลาดยังคงมีเสถียรภาพ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่โอเปกและซาอุดีอาระเบียกำลังจับตาดูอยู่ก็คือ เสถียรภาพของปัจจัยพื้นฐานในตลาด”

ถึงแม้ว่าซาอุดีอาระเบียจะเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ นูไอมี ก็ยังให้ความเห็นที่บ่งชี้ได้ว่าซาอุดีอาระเบียไม่สนใจเสียงเรียกร้องของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐฯ ที่กดดันให้ชาติโอเปกเพิ่มกำลังการผลิต

สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก มองว่า หากโอเปกเพิ่มการผลิตในระดับพอประมาณ ราว 300,000-500,000 บาร์เรลต่อวัน ก็น่าจะลดความร้อนแรงของราคาน้ำมัน และช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจ

เมื่อวันพุธ หลังจากรัฐมนตรีโอเปกหารือกันไม่ถึง 2 ชั่งโมง ตัวแทนจากชาติสมาชิกโอเปกผู้เข้าร่วมการประชุมได้กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ที่ประชุมบรรลุข้อตกลงที่จะคงปริมาณการผลิต ทั้งนี้ โอเปกมองว่า ราคาน้ำมันโลกพุ่งทำสถิติแตะระดับ 103.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อวันจันทร์ เป็นผลจากปัจจัยที่โอเปกควบคุมไม่ได้ เช่น เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า แรงกำไร ไม่ได้เกิดจากตลาดขาดแคลนซัปพลายน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังโอเปกตัดสินใจคงปริมาณการผลิต ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูงผ่าน 104 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันพุธ เช่นเดียวกับได้รับแรงกดดันจากสตอกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดและเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง

สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบไลท์สวีตครูด สำหรับส่งมอบเดือนเมษายน ที่ตลาดไนเม็กซ์ในนครนิวยอร์ก เมื่อวันพุธ เพิ่มขึ้นถึง 5 ดอลลาร์ มาปิดตลาดที่ 104.52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากไต่เพดานขึ้นไปทำราคาสูงสุดรอบวันที่ 104.64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ในลอนดอน สัญญาน้ำมันดิบเบรนต์ เพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน โดยน้ำมันดิบสำหรับส่งมอบเดือนเมษายน ปิดตลาดสูงขึ้นถึง 4.12 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
กำลังโหลดความคิดเห็น