xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นสหรัฐผันผวน หลัง ปธ.เฟด ยอมรับศก.ยังเสี่ยงสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดหุ้นสหรัฐ ผวาวาทะร้อน "เบอร์นันกี" ชี้ ศก.สหรัฐเสี่ยงเผชิญขาลง พร้อมส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยอีกระลอก ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐ ร่วงลงหนัก เมื่อเทียบเงินสกุลหลัก

วันนี้(28 ก.พ.) สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กของสหรัฐ เมื่อคืนนี้ ปิดบวก 9.36 จุด หรือ 0.07% แตะระดับ 12,694.28 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลดลง 1.27 จุด หรือ 0.09% แตะระดับ 1,380.02 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดบวก 8.79 จุด หรือ 0.37% แตะระดับ 2,353.78 จุด

ปริมาณซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ประมาณ 1.5 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราวส่วน 17 ต่อ 14 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ประมาณ 2.2 พันล้านหุ้น

นายท้อด ลีออง นักวิเคราะห์จากบริษัทโคเวน แอนด์ โค กล่าวว่า "แม้ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดในแดนบวก แต่ตลาดเคลื่อนตัวผันผวนตลอดทั้งวันเนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังชะลอตัวลง อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.ที่ร่วงลงแตะระดับ 75.0 จุดซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปี 2546 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันมีมุมมองที่เป็นลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น"

"อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงซื้อเข้าหนุนและพยุงดัชนีดาวโจนส์ให้สามารถปิดบวกได้ เนื่องจากนักลงทุนขานรับเบอร์นันเก้ที่ส่งสัญญาณว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมเดือนมี.ค."

ขณะเดียวกันบริษัทด้านการเงินที่ปล่อยกู้เงินซื้อบ้านอย่าง แฟนนี่ เมและเฟรดดี้ แม็ค ระบุว่าจะพยายามช่วยเหลือวิกฤตซับไพรม์ หลังรัฐบาลผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในตลาดโดยในช่วงปิดตลาด

**ปธ.เฟดส่งสัญญาณหั่น ดบ.

โดยเมื่อคืนนี้ นายเบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงมุมมองด้านเศรษฐกิจต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งสภาคองเกรสของสหรัฐ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการเฟดกำลังจับตาดูสถานการณ์เหล่านี้อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าเฟดเตรียมลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมเดือน มี.ค.นี้

"คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดกำลังประเมินข้อมูลทุกๆด้านที่บ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจ และเราจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ และเพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการที่ใช้จะสามารถยับยั้งเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอยได้"

นายเบอร์นันกี กล่าวว่า เหตุผลหลักที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมากนั้น มาจากตลาดที่อยู่อาศัยที่ซบเซาลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น แม้เฟดประมาณการว่าตลาดที่อยู่อาศัยจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในปีหน้าและจะแข็งแกร่งขึ้นในปี 2553 แต่เฟดยอมรับว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญช่วงขาลงนั้นยังมีอยู่ ข้อมูลที่เรารวบรวมได้ตั้งแต่การประชุมในเดือนม.ค.บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงในระยะใกล้นี้"

"ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงที่จะเผชิญช่วงขาลงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากตลาดที่อยู่อาศัยและตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มทรุดตัวลงมากกว่าที่ประเมินไว้ในเบื้องต้น และตลาดสินเชื่อที่คาดว่าจะยังคงตึงตัวต่อไปอีก"

ส่วนตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐนั้น เริ่มฟื้นตัวขึ้นบ้างแล้ว แม้ตลาดที่อยู่อาศัยชะลอตัวลง ซึ่งก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นทำให้อำนาจซื้อของผู้บริโภคลดน้อยลง และตัวเลขจ้างงานที่ปรับตัวลดลงทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนปรับตัวลดลงด้วย

ทั้งนี้ เฟดคาดว่าตัวเลขการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างอาคารพาณิชย์จะลดลงอย่างมากในอีกไม่กี่ไตรมาสข้างหน้านี้เนื่องจากตัวเลขการลงทุนในภาคธุรกิจชะลอตัวลงและการยื่นขอวงเงินกู้ทำได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาคส่งออกจะยังคงขยายตัวได้ดี" เบอร์นันเก้กล่าว

นอกจากนี้ เบอร์นันเก้กล่าวว่าคณะกรรมการเฟดจะจับตาดูตัวเลขเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าประเภทอื่นๆปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น

**ดอลลาร์ร่วงหนัก เมื่อเทียบยูโร

สำนักข่าวเอพี รายงานภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ ระบุว่า เงินสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร หลังจากประธานฯ เฟด ส่งสัญญาณว่าเฟดอาจลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำนักข่าวเอพีรายงานอีกว่า ค่าเงินยูโรแข็งแกร่งขึ้นแตระดับ 1.5120 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับของวันอังคารที่ 1.4967 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.5143 ดอลลาร์/ยูโร

ขณะที่ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลงแตะระดับ 1.9842 ดอลลาร์/ปอนด์ จากระดับ 1.9862 ดอลลาร์/ปอนด์ หลังจากพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 1.9971 ดอลลาร์/ปอนด์ในระหว่างวัน

หากเทียบกับสกุลเงินฟรังซ์สวิสและดอลลาร์แคนาดาแล้ว ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงแตะรดับ 1.0622 ฟรังซ์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0759 ฟรังซ์/ดอลลาร์ แต่แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 98.08 เซนต์แคนาดา/ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 98 เซนต์แคนาดา/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 0.8162 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.8146 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์

ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันจากการที่ "เบอร์นันกี" แถลงมุมมองด้านเศรษฐกิจต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งสภาคองเกรสของสหรัฐว่า เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ซึ่งคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด กำลังประเมินข้อมูลทุกๆด้านที่บ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจ และจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ และเพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการที่ใช้จะสามารถยับยั้งเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอยได้

นายคริสโตเฟอร์ สมิธ นักวิเคราะห์จากเอ็นเอ็ม เฟลชแฮคเกอร์ เทรดดิ้งแบงค์ กล่าวว่า แถลงการณ์ของเบอร์นันกีทำให้เทรดเดอร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ซึ่งการลดดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น