xs
xsm
sm
md
lg

สร้างความเชื่อมั่นด้วยประกันเงินฝาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงินในปัจจุบันมีการขยายขอบเขตการให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยการทำธุรกรรมและนวัตกรรมทางการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งส่งผลให้สถาบันการเงินมีความเสี่ยงมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การสร้างความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการและการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินจึงเป็นสิ่งที่สถาบันการเงินต้องตระหนักและรักษาไว้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ระดับความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบสถาบันการเงินลดลงย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของสถาบันการเงิน นั้นๆ ด้วย

ทั้งนี้ จะเห็นได้จากปัจจุบันสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ได้ประสบปัญหาการเงินอย่างหนัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก ทำให้รัฐบาลของหลายๆ ประเทศได้นำมาตรการต่างๆ มาใช้ในการแก้ปัญหาวิกฤตการเงิน โดยเหนึ่งในหลายมาตรการนั่น คือการใช้กลไกของระบบประกันเงินฝาก

บทความนี้จะอธิบายว่า ทำไมระบบประกันเงินฝากจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่หลายๆ ประเทศนำมาใช้ในช่วงวิกฤตการเงินครั้งนี้

วิกฤตการเงินในปัจจุบันที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกนั้น มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน โดยเฉพาะธุรกรรมการแปลงสินทรัยพ์ให้เป็นหลักทรัพย์ หรือที่เรียกว่า Securitization ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และวาณิชธนกิจต่างๆ ทั่วโลก ธุรกรรมดังกล่าวสามารถแปลงสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง โดยธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อแล้วนำสินเชื่อดังกล่าวขายต่อไปในรูปแบบการแปลงสินเชื่อให้เป็นหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกรรมที่ธนาคารพาณิชย์ทำหน้าที่เป็น Loan Originator

ทั้งนี้ สินเชื่อที่ว่าจะรวมถึงภาระหนี้สินประเภทต่างๆ เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อรถ สินเชื่อการศึกษา หลักทรัพย์จำนองและสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Subprime lending) เป็นต้น หลักทรัพย์ประเภทที่กล่าวนี้ปริมาณการซื้อขายและลงทุนในสัดส่วนที่สูงมาก และเป็นที่ต้องการของนักลงทุนทั่วๆไป จึงส่งผลให้ Loan Originator ส่วนใหญ่เร่งปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่ความเสี่ยงของตัวธนาคารพาณิชย์เองแล้ว จึงทำให้มาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อโดยรวมถูกละเลยและมองข้ามไป

การปล่อยสินเชื่อด้อยคุณภาพจะเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ตามปกติ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องการหาแหล่งเงินกู้อื่น แต่ผู้กู้จะต้องชดเชยความเสี่ยงของผู้ปล่อยกู้ด้วยการจ่ายอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่าปกติ และมีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน ซึ่งสินเชื่อส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อประเภทที่อยู่อาศัย (Subprime Mortgage) เพราะโดยทั่วไปผู้กู้มักจะไม่ละทิ้งหลักประกันที่เป็นที่อยู่อาศัย อีกทั้ง หลักประกันประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีมูลค่าที่สามารถครอบคลุมวงเงินกู้ได้ จึงทำให้ดูเหมือนว่าผู้กู้กลุ่มนี้มีความเสี่ยงไม่มากนัก

ประกอบกับในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้กลุ่มผู้ปล่อยกู้เหล่านี้ แข่งขันกันปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้กู้รายเดิมและรายใหม่โดยการเสนอเพิ่มวงเงินกู้ที่สูงขึ้นตามราคาประเมินของอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้เองจึงส่งผลให้สินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกาขยายตัวอย่างรวดเร็ว และในปี 2550 Subprime Mortgage มีมูลค่าประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเริ่มมีการชะลอและถดถอย จึงทำให้การผ่อนชำระหนี้เริ่มมีปัญหา ผู้กู้มีการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น และยิ่งไปกว่านี้ตราสารการเงินที่มาจากการทำ Securitization กับสินเชื่อ Subprime ในรูปแบบของ Asset-Back Securitization (ABS) และ Credit Derivativesได้กระจายตัวและมีการจำหน่ายให้นักลงทุนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้สถาบันการเงินทั่วโลกได้ดำเนินการตัดหนี้สูญหรือยอมขาดทุนจากสินเชื่อด้อยคุณภาพไปแล้วประมาณ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(Internationnal Monetary Fund: IMF) ได้ประมาณการความเสียหายของ Subprime ในระบบการเงินทั่วโลกในช่วงปี 2551 อาจเกิน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 34 ล้านล้านบาท)

นอกจากนี้ สถาการณ์ยังได้บานปลายไปยังทวีปยุโรปหลังจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ปล่อยให้ Lehman Brother Holdings Inc. ที่เป็นวาณิชยธนกิจอันดับ 4 ของโลกต้องล้มละลาย โดยมิได้ให้ความคุ้มครองเจ้าหนี้ที่ซื้อพันธบัตรของ Lehman Brother Holdings Inc. ซึ่งแตกต่างจากการล้มละลายของ Bear Sterns และ Washington Mutual Fund ที่ JP Morgan Chase เป็นผู้ซื้อกิจการและการล้มละลายของ Merrill Lynch ที่ Bank of America เป็นผู้ซื้อกิจการโดยยังคงให้การคุ้มครองเจ้าหนี้เดิมด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นจึงทำให้นักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ขาดความมั่นใจและไม่กล้าซื้อตราสารหนี้ที่ออกใหม่ ทำให้ธุรกิจที่จะระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องสถาบันการเงินต่างก็ขาดความเชื่อมั่นระหว่างกัน จึงหลีกเลี่ยงการให้กู้ยืมเพื่อป้องันความเสี่ยงเพราะที่ผ่านมาต่างมีปัญหาขาดทุนจากการไปลงทุนในตราสารทางกาเรงินประเภทต่างๆ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าลดลงทำให้หลักประกันเงินกู้ยืมเสื่อมราคาลง ส่งผลให้ฐานะเงินกองทุนของสถาบันการเงินลดลงด้วย จึงเป็นเหตุให้ผู้ฝากเงินเริ่มขาดความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินและระบบสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ ส่งผลให้สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นจึงทำให้เกิดการตึงตัวในตลาดเงินและต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มขึ้น จนทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ต้องดำเนินการออกมาตราการช่วยเหลือ เช่น การเพิ่มทุนโดยการซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์และหุ้นสามัญของสถาบันการเงินเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบการเงินและเพื่อรักษาระดับเงินกองทุนของสถาบันการเงินที่ลดลง ส่งผลให้สถาบันการเงินต้องกันเงินสำรองจากมูลค่าสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ระดับความเชื่อมั่นของประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญและละเอียดอ่อนมาก การรักษาระดับเงินกองทุนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในภาวะวิกฤตการเงินได้ เพราะปัจจุบันตลาดเงินและตลาดทุนมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือ หากตลาดใดตลาดหนึ่งเสียสมดุลไปอีกตลาดก็จะเสียสมดุลไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ช่วงระหว่างวันที่ 6-10 ตุลาคม 2551 ซึ่งทั่วโลกได้ขนานนมช่วงสัปดาห์นั้นว่า "The Black Week" คือ เป็นเหตุการณ์ที่ดัชนีตลาดหุ้นของหลายประเทศทั่วโลกปรับตัวลดตัวลงไปมากกว่าร้อยละ 10 โดยดัชนี Dow Jones Industrial Average ได้ปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 18 และดัชนี S&P 500 ปรับลดลงประมาณร้อยละ 20 ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในตลาดเงินและตลาดทุน ส่งผลให้ผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินขาดความเชื่อมั่นในตลาดเงินเช่นกัน จึงเป็นเหตุให้ผู้ฝากเงินเริ่มมีการถอนเงินฝากจากสถาบันการเงินเพราะเกรงว่าสถาบันการเงินอาจจะถูกปิดกิจการได้

ทางเลือกในการเพิ่มความเชื่อมั่น
มาตราหนึ่งที่ทางการของหลายๆ ประเทศนำมาใช้เพื่อช่วยรักษาระดับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบสถาบันการเงิน คือ การเพิ่มวงเงินประกันการจ่ายคืนผู้ฝากให้สูงขึ้นหรือการให้ความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน ตามตารางตัวอย่างประเทศที่มีการเพิ่มวงเงินจ่ายคืนข้างล่างที่ได้แสดงให้เห็นว่า ช่วงเดือนตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา สถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐอเมริกา หรือ Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) ได้ประกาศเพิ่มวงเงินจ่ายคืนผู้ฝากจากเดิม 1 แสนเหรียญสหรัฐ เป็น 2.5 แสนเหรียญสหรัฐ และหลายๆ ประเทศก็ทยอยประกาศเพิ่มวงเงินจ่ายคืนผู้ฝากหรือคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน

ระบบประกันเงินฝากเป็นหนึ่งในมาตราการที่ช่วยรองรับภาวะวิกฤตการเงินที่ต้องการมุ่งเน้นการช่วยเหลือกลุ่มผู้ฝากเงินรายย่อย (Micro unit) ที่เป็นผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ในระบบการเงิน ซึ่งมาตราการดังกล่าวจะแตกต่างจากมาตราการช่วยเหลือโดยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินที่มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินโดยตรง การรักษาระดับความเชื่อมั่นของผู้ฝากรายย่อยนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ความเชื่อมั่นมีแนวโน้มลดลงหมายถึง ความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินที่มีต่อสถาบันการเงินจะลดลงตามไปด้วย และเป็นสาเหตุให้ผู้ฝากเริ่มถอนเงินออกจากสถาบันการเงิน จนอาจเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า Bank run ขึ้นได้ ซึ่งเหตุการณ์นี้จะส่งผลให้เงินในระบบขาดสภาพคล่อง ปริมาณเงินในระบบลดลง ทำให้ไม่เกิดการจ้างงาน อัตราการผลิตลดลง และยิ่งไปกว่านั้นปัญหาเหล่านี้อาจนำมาสู่ภาวะที่เรียกว่า กับดักสภาพคล่อง (Liquidity trap) ซึ่งเป็นภาวะที่นโยบายการเงินไม่สามารถช่วยเหลือได้ เพราะนักลงทุนขาดความมั่นใจที่จะลงทุน ดังนั้น รัฐบาลของประเทศต่างๆ จึงตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาระดับความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน เพราะหากความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินหายไปก็อาจจะเป็นการยากที่จะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาใหม่

กล่าวโดยสรุปคือ เครื่องมือหรือมาตราการที่หลายๆ ประเทศนำมาใช้เพื่อยับยั้งวิกฤตการเงินหรือป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามไปยังหน่วยธุรกิจอื่นๆ คือ การนำระบบประกันเงินฝากมารักษาระดับความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินที่มีต่อสถาบันการเงินไม่ให้ลดลง โดยการเพิ่มระดับลงเงินจ่ายคืนให้กับผู้ฝากเงินหรือการคุ้มครองเงินฝากแบบเต็มจำนวน

ที่มา : สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น