ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลดลง 74.16 จุด เมื่อคืนนี้ แม้ว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยถึง 0.5% โดยดัชนีปรับตัวลงในช่วงท้ายการซื้อขาย นักลงทุนหันเก็งกำไรน้ำมัน ราคาพุ่ง 4.77 ดอลลาร์/บาเรล คาดดาวน์โจนส์ร่วง เพราะการหั่นดอกเบี้ยเป็นไปตามคาด ขณะที่นักลงทุนยังวิตกกังวลแนวโน้มผลกำไรที่อ่อนแอของภาคธุรกิจ หลังข่าวผลประกอบการของบริษัทที่เป็นเรียลเซกเตอร์ กำลังเผชิญตัวเลขขาดทุน ขณะที่ดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร
วันนี้ ( 30 ต.ค.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กในสหรัฐฯ (NYMEX) ปิดทำการเมื่อคืนนี้ ปรับตัวลดลง 74.16 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -0.82 % ปิดที่ระดับ 8,990.96 จุด
ดัชนี S&P 500 ปิดลดลง 10.42 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -1.11 % ปิดที่ระดับ 930.09 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดเพิ่มขึ้น 7.74 จุด หรือเปลี่ยนแปลง +0.47 % ปิดที่ระดับ 1,657.21 จุด โดยมีปริมาณซื้อขายประมาณ 1.62 พันล้านหุ้นในตลาดนิวยอร์ก และประมาณ 2.79 พันล้านหุ้นในตลาด Nasdaq โดยมีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบเกือบ 2 ต่อ 1ในตลาดนิวยอร์ก และประมาณ 4 ต่อ 3 ในตลาด Nasdaq
นักวิเคราะห์คาด นักลงทุนยังวิตกกังวลแนวโน้มผลกำไรที่อ่อนแอของภาคธุรกิจ หลังข่าวผลประกอบการของบริษัทเจเนอรัล อิเลกทริกส์ อาจขาดทุนหนัก
**น้ำมันดิบปิดพุ่ง 4.77 ดอลลาร์/บาเรล
ด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX พุ่งขึ้น 4.77 ดอลลาร์ต่อบาเรล เมื่อคืนนี้ โดยปิดตลาดที่ 67.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 63.65-68.91 ดอลลาร์ ขณะที่ดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ย 0.50 % ตามความคาดหมาย
ราคาน้ำมัน heating oil ส่งมอบเดือน พ.ย.พุ่งขึ้น 8.90 เซนต์ หรือเปลี่ยนแปลง +4.65% ปิดที่ระดับราคา 2.0010 ดอลลาร์ต่อแกลลอน หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 1.9385-2.0453 ดอลลาร์
ราคาน้ำมันเบนซิน RBOB ส่งมอบเดือน พ.ย.พุ่งขึ้น 7.75 เซนต์ หรือเปลี่ยนแปลง +5.32% ปิดที่ระดับราคา 1.5330 ดอลลาร์ต่อแกลลอน หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 1.4854-1.5753 ดอลลาร์
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือน ธ.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอน ปิดพุ่งขึ้น 5.18 ดอลลาร์ หรือเปลี่ยนแปลง +8.59 % ปิดที่ระดับราคา 65.47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 61.24-66.88 ดอลลาร์
โดยเมื่อคืนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) 0.50 % ตามคาด ในการประชุมฉุกเฉินของคณะกรรมการเฟด เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเงินในประเทศ
**เฟดหั่นดบ. 0.5% ตามคาด แนวโน้มเข้าใกล้ 0%
นอกจากนี้ เฟดยังได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (discount rate) ลงอีก 0.50% เช่นกันเพื่อป้องกันมิให้วิกฤตสินเชื่อลุกลามออกไป จนทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐตกอยู่ในภาวะถดถอยที่รุนแรงและยาวนาน พร้อมกับเปิดโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อไป หากมีความจำเป็น
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง 0.50 % จาก 1.50 % สู่ 1.00 % ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2004 และปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลง 0.50 % จากระดับ 1.75 % สู่ระดับ 1.25 %
โดยอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานคืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เฟดเรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์ที่กู้ยืมโดยตรงจากเฟด ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ข้ามคืนที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากการกู้ยืมระหว่างกัน
ทั้งนี้เฟดได้ลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไปแล้งถึง 9 ครั้ง ในรอบ 1 ปี 1 เดือน ก่อนหน้านี้ จากระดับ 5.25% เหลือแค่ 1% ในปัจจุบัน เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ ทางการเงินที่เริ่มต้นจากการล่มสลายของตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสหรัฐ และได้ลุกลามออกไปทั่วโลก