xs
xsm
sm
md
lg

ทองคำยังน่าลงทุนอีกหรือไม่ (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม พรีมาเวสท์ จำกัด


หลายวันนี้มีข่าวคราวเกี่ยวกับการเข้าซื้อทองคำอย่างหนาแน่นจนต้องมีการจองคิวกัน ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่มีการกล่าวอ้างกันคือราคาทองคำปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากที่มีราคาสูงกว่า 15,000 บาทในช่วงเดือนกรกฎาคม 2551 เป็นราคาประมาณ 12,850 บาทในช่วงสัปดาห์นี้ มีคำถามหนึ่งที่ถามเข้ามามากคือราคาทองคำจะปรับเพิ่มขึ้นไปอีกหรือ และการที่มีความต้องการซื้อทองคำมากมายนี้เป็นสัญญาณของการเก็งกำไรหรือไม่ โดยมุ่งหวังว่าราคาทองคำจะปรับเพิ่มสูงขึ้นไปอีก คำถามเหล่านี้ผมเองก็ไม่ได้ตอบไปว่าแนวโน้มเป็นอย่างไรแต่ก็อยากให้นักลงทุนดูความสมเหตุสมผลของการลงทุนและลงทุนอย่างระมัดระวัง เพราะราคาทองคำก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสูงมากเมื่อเทียบกับราคาทองคำ ณ วันที่ 6 มกราคม 2546 ซึ่งราคาทองแท่งมีราคาเพียงบาทละ 7,150 บาท ดังนั้นในการที่เข้าซื้อราคาทองคำ ณ ที่ราคาสูงขนาดนี้ นักลงทุนพึงศึกษาข้อมูลถึงสาเหตุของการปรับเพิ่มของราคาทองคำ และพิจารณาว่าปัจจัยเหล่านั้นกำลังลดทอนลงไปหรือไม่ เพราะถ้าสาเหตุที่เป็นแรงผลักดันเหล่านี้หมดไป และไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาแล้วราคาทองคำก็มีโอกาสปรับลดลงได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ดังนั้นในวันนี้ผมจึงขอทบทวนเหตุผลของการปรับเพิ่มขึ้นของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมาอีกครั้งเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับท่านนักลงทุนเพื่อพิจารณา

ราคาทองคำของประเทศไทยมีแนวโน้มปรับตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นปี 2548 ราคาทองคำเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวอย่างต่อเนื่องโดยในช่วงเดือนมกราคม 2548 ราคาทองคำมีราคาประมาณ 7,750 บาท และในช่วงเดือนก่อนถึงเดือนกันยายน 2548 ราคาทองคำทยอยปรับเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับสูงกว่า 8,000 บาทและในเดือนกันยายนนี้เองราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาสูงสุดที่ราคา 9,150 บาท และสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2548 ราคาทองคำปรับเพิ่มสูงสุดถึง 9.650 บาทและในเดือนธันวาคมถัดมาราคาทองคำก็ปรับเพิ่มอีกมาสูงสุดที่ 10,450 บาทและในปี 2549 ราคาทองคำเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 10,000 บาทโดยสูงสุดที่ 10,900 บาท ต่อมาในปี 2550 ถัดมาราคาทองคำก็เคลื่อนไหวอยู่ในระดับราคาสูงสุดที่ 13,200 บาท ณ เดือนธันวาคม และมาปรับราคาสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2551 การปรับเพิ่มของราคาทองคำนี้ลองมาพิจารณาว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงระหว่างปี 2548 ถึงปัจจุบัน

ก่อนที่จะไปพิจารณาเหตุการณ์ที่จะนำไปเชื่อมโยง ผมขอยกบทความใน World Gold Council ที่มีการตีพิมพ์ผลงานของนักวิจัยสองท่านได้แก่ Eric Levin และ Robert Wright ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดราคาทองคำในตลาดโลก โดยในรายงานได้ใช้ข้อมูลระหว่างปี 1883-2005 เพื่อตรวจหาปัจจัยที่กำหนดราคาทองคำที่แท้จริง ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1) ในระยะยาวราคาทองคำและระดับราคาของดอลลาร์สหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดย 1%ของอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมา จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้น 1% ของราคาทองคำ

2) สำหรับในระยะสั้น ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความต้องการและปริมาณของทองคำซึ่งจะกระทบต่อราคาทองคำซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงจากราคาที่ควรจะเป็น ประกอบด้วย ระดับเงินเฟ้อของประเทศสหรัฐอเมริกา ระดับความผันผวนของเงินเฟ้อ ความเสี่ยงทางฐานะทางการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน

3) ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างราคาทองคำและเงินเฟ้อของโลก ความแปรปรวนของเงินเฟ้อ รายได้ของประชากรโลก และดัชนี S&P 500

4) ทองคำสามารถเป็นเครื่องมือป้องกันเงินเฟ้อในระยะยาวสำหรับนักลงทุนในประเทศที่สกุลเงินมีแนวโน้มเสื่อมค่าเมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์มากกว่าผลต่างระหว่างอัตราเงินเฟ้อของประเทศและของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศที่มีการทดสอบแล้วพบว่าเป็นผู้ซื้อทองคำในอันดับต้นๆ ได้แก่ อินเดีย จีน ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย และอินโดนีเชีย

5) ถ้านักลงทุนมีความเชื่อว่าดอลลาร์สหรัฐอเมริกามีการเสื่อมค่าเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่น นั่นหมายถึงว่าประเทศสหรัฐอเมริกาอาจมีเงินเฟ้อขึ้นได้ จะมีการถือทองคำเพิ่มขึ้น

ในตอนหน้าผมจะลองอ้างอิงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยข้างต้นต่อราคาทองคำครับ เพื่อที่อาจจะเป็นแนวทางแก่ท่านนักลงทุนในการลงทุนในทองคำ การลงทุนมีความเสี่ยง ท่านควรศึกษาข้อมูลให้ดีต่อการลงทุน โดยเฉพาะการเก็งกำไร
กำลังโหลดความคิดเห็น