xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” ชำแหละ “หมัก” ต้นเหตุบั่นทอนความเชื่อมั่น-ทำนักลงทุนสับสน 30%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“รมว.คลังเงา” ชี้ ภาวะการตัดสินใจของ “สมัคร” กำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการส่งสัญญาณยกเลิกกันสำรอง 30% ที่กลับไปกลับมา พร้อมแฉนโยบายศก.12 ข้อ สับสน-ขาดเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะแหล่งรายได้ในการลงทุนรถไฟฟ้า 5 แสนล้าน ขณะที่ฐานะการคลังกำลังถังแตก เหลือยอดกู้ได้ไม่ถึง 10% ของหนี้สาธารณะ “มาร์ค” จี้ยกเลิก 30% ก่อนกรอบ 2 เดือน แนะกำหนดราคาก๊าซหุงต้มจากต้นทุนจริง

วันนี้ (18 ก.พ.) นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเงา กล่าวถึงการยกเลิกมาตรการกันเงินสำรอง 30% โดยแสดงความเป็นห่วงผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักธุรกิจ เพราะภาวะในการเป็นผู้นำในแง่การตัดสินใจของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นอย่างยิ่ง เนื่องจากจุดยืนรัฐบาลก็มีแต่แรกแล้วว่า รัฐบาลจะผลักดันเรื่องนี้ใน 2 เดือน ก็ยิ่งเป็นการสร้างความเสียหาย เพราะคนในวงการก็เข้าใจแล้วว่าข้อมูลมีแล้ว แต่ที่ชะลอนั้นหวังผลอะไร

"ประเด็นสำคัญต่อการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ คือ เรื่องความเชื่อมั่น แต่เป็นที่น่าเสียดายที่นโยบายรัฐบาล จุดเริ่มต้นก็ติดลบแล้ว"

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ความเชื่อมั่นในนโยบายและการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลติดลบ ได้แก่ ประการที่ 1.วิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่นำเสนอผ่านนโยบายยังขาดการชี้ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ควรจะเป็นว่าไทยต้องการจะเป็นผู้นำในด้านใดของโลก

2.เอกภาพในการบริหารจัดการของพรรคร่วมรัฐบาลและผู้นำรัฐบาล ซึ่งในช่วงหาเสียงได้มีการโฆษณาว่าจะมีนโยบายเพิ่มรายได้ 4 เท่าและลดรายจ่าย 4 เท่า แต่เท่าที่ดูจากการแถลงนโยบายรัฐบาลวันนี้กลับไม่ปรากฎว่ามีนโยบายใดจะทำให้คำมั่นสัญญาที่มีไว้ต่อประชาชนบรรลุวัตถุประสงค์

3.ภาวะความเป็นผู้นำของผู้ที่รับผิดชอบนโยบายเศรษฐกิจและความพร้อมที่จะตัดสินใจในนโยบายสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการกันสำรอง 30% และ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งนักธุรกิจต่างต้องการเห็นความกล้าหาญในการตัดสินใจของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เพื่อให้เกิดภาพที่ชัดเจนและนำมาสู่การปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ

"ทุกวันนี้มีผู้ประกอบการพร้อมจะลงทุนซื้อเครื่องจักร ลงทุนเพิ่ม แต่ขาดความชัดเจนเรื่องมาตรการอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ชะลอการตัดสินใจออกไป ชะลอการลงทุน ซึ่งแน่นอนมีผลต่อการชะลอการฟื้นคืนชีพต่อเศรษฐกิจไทยของเรา"

4.ความชัดเจนในการกู้ยืมเงินเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนที่จะใช้ในโครงการเมกะโปรเจกต์ เนื่องจากในงบปี 51 รัฐบาลสามารถตั้งวงเงินกู้เพิ่มเติมได้อีกไม่เกิน 6-8 แสนล้านบาทเท่านั้น และเมื่อรวมกับที่รัฐบาลเตรียมออกพันธบัตรในประเทศระยะยาวอีก 5 แสนล้านบาท ก็ยังเชื่อว่าไม่พอกับหลายโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่รัฐบาลจะผลักดันซึ่งมีมูลค่ารวมถึง 2 ล้านล้านบาท

"ทุกคนที่เกี่ยวข้องตั้ง 3 คำถามว่า รัฐบาลตั้งใจทำจริงหรือไม่ในแต่ละโครงการที่เสนอมา รัฐบาลควรจัดลำดับความสำคัญของโครงการ หากเงินไม่พอว่าโครงการไหนทำก่อน โครงการไหนชะลอ และหากดื้อดันทำทุกโครงการแล้วเงินหมดจะทำอย่างไร ใครรับผิดชอบ"

5.การส่งเสริมรายได้ของรัฐบาลที่ยังไม่ปรากฎให้เห็นในนโยบายรัฐบาล ดังนั้นกระทรวงการคลังจะต้องชี้แจงที่มาของเงินที่จะนำมาใช้สนับสนุนนโยบายและโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลได้นำเสนอ และสุดท้าย 6.ขาดนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมและพัฒนาการทำงานของรัฐวิสาหกิจ ทั้งๆ ที่รัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานสำคัญที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่รัฐ

หากประเมินภาพรวมทางเศรษฐกิจแล้ว ถ้าดูจากนโยบายของรัฐบาล 12 ข้อแรก เป็นเรื่องเศรษฐกิจโดยตรง และจะเน้นนโยบายตามที่ได้ปราศรัยหาเสียงไว้ แต่ปัญหาคือกำหนดทิศทางอย่างไร ซึ่งไม่เหมือนจีนที่จะเป็นศูนย์กลางโรงงานของโลก อินเดีย หวังเป็นศูนย์กลางความรู้โลก แม้แต่สิงคโปร์ก็จะเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก แต่ของเรามองไม่เห็น หากหวังให้มีการลงทุนต่อเนื่องจริงๆ ก็ต้องมีความชัดเจน

ทั้งนี้ รัฐบาลกลับไม่มีการระบุว่าจะผลักดันเรื่องใด เนื่องจากเห็นว่านโยบายที่รัฐบาลนำเสนอมีช่องโหว่เยอะ เมกะโปรเจกต์ก็มีปัญหา ที่รัฐบาลเสนอโครงการก็ไม่ตรงกับรัฐบาลที่แล้ว รถไฟฟ้าหลายสายก็เหมือนกับไปรื้อใหม่หมด เงื่อนไขที่ว่าจะแล้วเสร็จใน 3 ปียิ่งแล้วใหญ่ เพราะต้องกลับไปศึกษาเพิ่มเติมใช้เงิน 6 พันล้านบาท

นายกรณ์ ระบุอีกว่า รัฐบาลชุดที่แล้ว ก็ได้เริ่มเรื่องรถไฟฟ้าไปแล้ว แต่รัฐบาลชุดนี้กลับมาเริ่มศึกษาใหม่อีก รื้อทุกสายก็เป็นปัญหา รัฐบาลต้องตอบประชาชนให้ได้ว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น เพราะแต่ละเส้นทางต้องจ้างที่ปรึกษาใช้เงินถึง 6 พันล้าน ทำให้ความเชื่อมั่นในการแถลงนโยบายแทนที่จะเชื่อมั่น ก็ยิ่งสร้างความสับสน

**ฐานะคลังถังแตก กู้ได้แค่ 8-10% หวั่นเมกะโปรเจกต์ฝันกลางวัน

นายกรณ์ กล่าวถึงความเป็นไปได้ของโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ 5 แสนล้านบาท และโครงการประชานิยมต่างๆ ซึ่งต้องใช้งบประมาณและเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ขณะที่สถานะทางการเงินการคลังของไทย ขณะนี้อยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากตัวเลขหนี้สาธารณะสูงถึง 38% และมียอดกู้เงินลงทุนได้เพียง 8-10% จึงต้องการเห็นแผนงานแหล่งที่มาของรายได้ เพื่อใด้ฐานะการเงินการคลังมีดุลภาพ

**“มาร์ค” จี้ยกเลิก 30% กำหนดราคาก๊าซหุงต้มจากต้นทุนจริง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีเงา เรียกร้องให้กระทรวงการคลัง เร่งตัดสินใจประกาศยกเลิกมาตรการกันเงินทุนสำรอง 30% ก่อนกรอบเวลา 2 เดือนที่มองไว้ โดยมีการหารือกับ ธปท.เป็นการภายในให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะมีการแถลงต่อสาธารณะ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยการแสดงภาวะความเป็นผู้นำที่เหมาะสม หากเชื่อมั่นในข้อมูลที่ได้ศึกษาร่วมกันแล้ว

นอกจากนี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลตัดสินใจแนวทางการกำหนดราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ชัดเจน โดยเห็นว่าราคาก๊าซหุงต้มสามารถกำหนดให้อยู่ในระดับต่ำได้ สำหรับผู้บริโภค เนื่องจากต้นทุนที่เกิดขึ้นเป็นต้นทุนจากธรรมชาติที่ไม่ได้สูงไปกว่าอดีต รวมถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น