xs
xsm
sm
md
lg

คลังเด้งรับออกกองทุนวายุภักษ์ 2 ลดภาระหนี้รัฐหนุนเมกะโปรเจกต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สคร.ปิ๊งไอเดียตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 สร้างรถไฟฟ้าเสริมการออกบอนด์ระยะยาว เชื่อสามารถลดปัญหาหนี้สาธารณะ และไม่กระทบสถานะการคลังของประเทศ ชี้แนวทางจัดตั้งอาจปรับเปลี่ยนเป็นการระดมทุนเพื่อซื้อหุ้นบริษัทที่ได้รับสัมปทาน เพื่อนำรายได้มาหมุนเป็นผลตอบแทน

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยถึงแนวคิดของรัฐบาลที่จะจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 เพื่อระดมทุนมาใช้ในการลงทุนขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจ็กต์ว่า แนวคิดดังกล่าวถือว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่น่าจะเข้ามาช่วยเสริมการกู้เงินแทนการออกพันธบัตร หรือกู้เงินในโครงการเมกะโปรเจกต์ได้เป็นอย่างดี เพราะจะสามารถลดภาระหนี้สาธารณะในอนาคตโดยสามารถหาแหล่งเงินมาใช้ในการจ่ายดอกเบี้ยของพันธบัตรคืนได้โดยไม่กระทบฐานะการคลัง

“การลงทุนรถไฟฟ้าและสาธารณูปโภคต่างๆ จะต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้น หากจะพึ่งพางบประมาณ และเงินกู้ในประเทศอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ โดยการลงทุนช่วงแรกที่จะเน้นหนักในการก่อสร้างระบบรางอาจจะใช้เงินกู้จากแหล่งเงินต้นทุนต่ำไปก่อน เช่น การกู้ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจบิก หรือออกพันธบัตรในประเทศ หลังจากนั้นจะต้องหาเงินมาใช้ในระบบการเดินรถ และชำระดอกเบี้ยให้เงินกู้เดิม จึงต้องมีแนวทางการระดมทุนอื่นเตรียมรองรับไว้ ซึ่งการระดมทุนในกองทุนวายุภักษ์ก็ถือเป็นการระดมเงินจากประชาชนได้อีกทางหนึ่ง” นายอารีพงศ์ กล่าว

สำหรับแนวทางการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 นั้น สามารถทำได้แต่ขึ้นอยู่กับความต้องการเงินทุนของรัฐบาล จึงต้องรอดูนโยบายที่ชัดเจนอีกครั้ง แต่หากพิจารณาในแง่ของพอร์ตที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ในปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 7 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นของรัฐวิสากิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อาทิ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) PTT ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTB บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) THAI บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT เป็นต้น มีมูลค่ากว่า 6.5 แสนล้านบาท รวมกับหุ้นของในบริษัทที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% มีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากจะทำในรูปแบบเดียวกับวายุภักษ์ 1 ก็สามารถดำเนินการได้

แหล่งข่าวจากกองทุนวายุภักษ์ 1 กล่าวว่า หากพิจารณาถึงหุ้นในพอร์ตที่กระทรวงการคลังถืออยู่ในปัจจุบันอาจจะมีหุ้นที่มีความน่าสนใจน้อยกว่ากองทุนวายุภักษ์ 1 หากจะจัดตั้งควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดตั้งกองทุนเพื่อดึงดูดความสนใจผู้ลงทุน โดยรูปแบบที่เป็นไปได้ คือการระดมทุนเพื่อนำเงินดังกล่าวไปซื้อหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง เช่น บีทีเอส และบีเอ็มซีแอล ซึ่งบริษัทเหล่านี้เริ่มมีรายได้จากการเดินรถแล้วสามารถนำเงินมาตอบแทนผู้ถือหน่วยลงทุนได้

“ปัจจุบันบริษัทเหล่านี้เริ่มมีกำไร และจะมีกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อมีรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกหลายเส้นทาง เพราะถือเป็นศูนย์กลางของการเดินรถ ดังนั้น การที่รัฐต้องกู้เงินจำนวนมากด้วยการออกพันธบัตรมาลงทุนในระบบราง รัฐก็ควรจะได้ประโยชน์จากการเดินรถทั้งหมดด้วย กองทุนวายุภักษ์จะสามารถเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้ในการซื้อหุ้นจากบริษัทดังกล่าว ขณะเดียวกัน รัฐก็จะได้ประโยชน์จากรายได้ในการเดินรถมาใช้ในการจ่ายดอกเบี้ยจากเงินกู้ที่ใช้ในการสร้างราง” แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น