xs
xsm
sm
md
lg

คลังถกด่วนรถไฟฟ้าหมัก อ้างเจบิกหนุนรัฐซื้อ BTS

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บิ๊ก สบน.ใส่เกียร์ 5 นัด ถกสภาพัฒน์และหน่วยงานขนส่งระบบรางทั้งหมดวันนี้ ร่วมตีปี๊บนโยบายรถไฟฟ้า 9 สาย ของรัฐบาลหมัก เผย ฐานะการคลังไม่มีปัญหา ภาระหนี้สาธารณะแค่ 38% ของจีดีพี ฟุ้งกู้เพื่อการลงทุน ไม่ใช่หว่านรากหญ้าแบบประชานิยม อ้างเจบิกหนุนรัฐซื้อบีทีเอส

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (7 ก.พ.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการขนส่งมวลชนระบบราง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และ สบน.จะหารือร่วมกันเพื่อสรุปการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 5 สาย ภายใต้นโยบายของรัฐบาลชุดเดิมที่ได้เริ่มประกวดราคาไปบางส่วนแล้ว พร้อมทั้งจะนำโครงการระบบขนส่งมวลชนที่คาดว่าจะเป็นงานเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่ คือ รถไฟฟ้า 9 สาย มูลค่า 5 แสนล้านบาทขึ้นมาพิจารณาด้วย

การหารือครั้งนี้จะเป็นการสรุปรายงานความคืบหน้าของโครงการดังกล่าว ทั้งในด้านการก่อสร้างและการระดมทุน ซึ่งขณะนี้โครงการส่วนใหญ่ยังมีปัญหาหลายด้าน ทั้งเรื่องการเวนคืนที่ดิน การจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยคาดว่า หากมีการหารือร่วมกันก็เชื่อว่าจะสามารถประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้

“จะนำผลสรุปที่ได้จากการประชุมในวันนี้ เสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (ครม.) เพื่อให้สามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้ทันที” นายพงษ์ภาณุ กล่าว

ด้านการลงทุนนั้น คาดว่า การกู้เงินจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) จะสามารถเซ็นสัญญาได้ราวเดือน มี.ค.2551 เพื่อกู้เงินงวดแรกจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1.4% ระยะเวลาการกู้ยืม 25 ปี เพื่อนำมาใช้สำหรับโครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นโครงการแรก ซึ่งในหลักการของโครงการและเส้นทางจะไม่มีการปรับเปลี่ยนแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ

***อ้างเจบิกให้รัฐซื้อบีทีเอส

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า แนวทางที่นายกรัฐมนตรีมีนโยบายซื้อหนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เพื่อเข้าไปถือหุ้น 89% ที่เป็นส่วนของกลุ่มเจ้าหนี้ เพื่อรัฐบาลจะเข้าไปถือหุ้นใหญ่และใช้สิทธิ์เดินรถระบบขนส่งมวลชน นั้น ถือเป็นแนวทางเดียวกับที่เจบิกในฐานะผู้ให้กู้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง พยายามเสนอให้ประเทศไทยดำเนินการอยู่แล้ว

ส่วนประเด็นฐานะการคลังที่กังวลกันมาก นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า หากพิจารณาถึงภาพรวมฐานะการคลัง และสภาพคล่องในประเทศขณะนี้ นั้น ยืนยันว่า ยังเอื้ออำนวยให้รัฐบาลสามารถกู้เงินจากในตลาดมาใช้ในการดำเนินการโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ได้อย่างไม่มีปัญหา โดยแนวทางที่เหมาะสมที่สุด คือ การออกพันธบัตรระยะยาวอายุ 30 ปี เพราะจะสอดคล้องกับความต้องการในการใช้เงินและความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลในอนาคต ซึ่งวงเงินลงทุน 5 แสนล้านบาทอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ในระยะเวลา 30 ปี

ปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ระดับ 38% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่อยู่ที่ 50% ของจีดีพี จึงมีช่องที่รัฐบาลจะสามารถกู้เพิ่มได้ถึง 8-9 แสนล้านบาท ประกอบกับในช่วงนี้ตลาดพันธบัตรมีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำลง ทำให้ต้นทุนในการระดมเงินผ่านตลาดพันธบัตรไม่สูงมากนัก หากสามารถระดมเงินในรูปพันธบัตรระยะยาว อายุ 30 ปีได้ ก็จะดีทั้งการสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง และไม่เป็นภาระต่องบประมาณมากนัก

ดังนั้น พันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี จะถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับกลุ่มลูกค้าประเภทกองทุนขนาดใหญ่ และบริษัทประกันที่มีวงเงินลงทุนจำนวนมาก เพราะประเทศไทยยังไม่มีการออกพันธบัตรในลักษณะดังกล่าวมาก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น