xs
xsm
sm
md
lg

ฝรั่งหัวดำจุดพลุหุ้นการเมือง ขาใหญ่ชี้ดอดส่งคำสั่งจากสิงคโปร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัญญาณฟื้นตลาดหุ้นไทยหลังฝรั่งกลับลำซื้อ เหตุคลายกังวลวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ด้านนักลงทุนรายใหญ่เชื่อเงินนอกที่ไหลกลับเข้ามารอบนี้ มาจากตลาดใหญ่เมืองไทยที่ส่งออเดอร์จากสิงคโปร์ หวังจุดพลุหุ้นใหญ่-หุ้นการเมือง ด้านโบรกเกอร์ยังเชื่อเดือน ก.พ.หุ้นทั่วโลกผันผวนหนัก จับตาตัวเลขผลการดำเนินงานบริษัทในสหรัฐฯ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ พร้อมแนะ 3 วิธีเล่นหุ้นในช่วงตลาดสวิง “เก็งกำไรหุ้นใหญ่-เน้นหุ้นผลประกอบการดี-เลือกหุ้นจ่ายปันผลสูง”

สถานการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 ม.ค.-1 ก.พ.) หลังการประกาศประชุมลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในช่วงวันที่ 23 ม.ค. ซึ่งสูงถึง 0.75% ซึ่งถือว่าเกินความคาดหมายของหลายฝ่าย ก่อนจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมปกติเมื่อวันที่ 31 ม.ค.อีก 0.50% ส่งผลทำให้เพียง 8 วันเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 1.25% ซึ่งถือได้ว่าแทบไม่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน การออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบ ที่เกิดขึ้นจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) โดยเฉพาะการคืนภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้ หากพิจารณาทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทย แม้ในช่วงแรกจะไม่ตอบรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบฉุกเฉินของเฟด แต่ในช่วง 4 วันที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค เนื่องจากได้แรงซื้อที่เริ่มไหลกลับเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเพียงแค่ 4 วันทำการจากวันที่ 28 ม.ค.ดัชนีปิดที่ 744.36 จุด ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาปิดในวันที่ 1 ก.พ.ที่ระดับ 810.86 จุด โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 66.5 จุด หรือ 8.93%

สำหรับเม็ดเงินจากต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุน มีกระแสข่าวลือว่า เม็ดเงินดังกล่าวเป็นการไหลกลับเข้ามาของกลุ่มทุนทางการเมือง ที่จะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้น โดยล่าสุด นายกรัฐมนตรีเตรียมเสนอรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในรัฐบาล “สมัคร 1” ทำให้เริ่มเห็นการเข้ามาเก็งกำไรทั้งในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเครือญาติรัฐมนตรี และหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล

**ขาใหญ่จี้จับตาทุนนอก

แหล่งข่าวนักลงทุนรายใหญ่ กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนใน 1-2 เดือนข้างหน้า ว่า ตลาดหุ้นจะผันผวนในทิศทางขาขึ้นมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติที่เป็นทั้งนักลงทุนต่างชาติจริงจากฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงนักลงทุนไทยที่ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ในต่างประเทศ เพื่อให้เป็นออเดอร์จากต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนมากขึ้น

“แม้มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ออกมาเพื่อบรรเทาปัญหาจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่นักลงทุนไม่รู้ คือ ผลกระทบที่อาจจะตามมาเพิ่มเติมจากปัญหาซับไพรม์ที่หลายฝ่ายระบุตรงกันว่า ถึงปัจจุบันปัญหาดังกล่าวยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด แต่หากพิจารณาถึงปัญหาภายในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยเป็นประเด็นที่ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในขณะนี้มีความชัดเจนมากขึ้น และจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งน่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนในประเทศได้ในระดับหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม ในสภาวะขาขึ้นของตลาดหุ้นในรอบนี้ หากติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด จะพบว่าหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากจะมีหุ้นขนาดใหญ่ที่ก่อนหน้านี้นักลงทุนต่างชาติขายออกไปค่อนข้างมากแล้ว ยังมีหุ้นที่อยู่ในกลุ่มที่ถูกเรียกว่าหุ้นการเมืองที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น อาทิ บมจ.เอ็มลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (MLINK) บมจ.วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค (WIN) บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) เป็นต้น
“หุ้นเก็งกำไรหลายตัวที่เคยร้อนแรงก่อนหน้านี้อาจจะเริ่มเงียบไป แต่ในรอบนี้จะเริ่มเห็นหุ้นกลุ่มการเมือง รวมทั้งหุ้นขนาดใหญ่กลับมาสดใสอีกครั้ง” แหล่งข่าวกล่าว

***รอดัชนีสหรัฐฯชี้นำตลาดหุ้น

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ยังคงผันผวนจากปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เข้าสู่ภาวะถดถอยยังไม่จบ และคาดว่า จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยต้องรอดูผลการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งล้วนแต่จะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นทั่วโลก
สำหรับสถานการณ์การเมืองในประเทศ การที่มีรัฐบาลใหม่ถือเป็นเรื่องที่ดี แม้จะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ต้องเคารพเสียงส่วนมาก เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งตลาดหุ้นไทยได้ขานรับด้วยการปรับขึ้นในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา จากการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้น

“เราควรให้โอกาสรัฐบาลใหม่ทำงาน แม้บางคนจะไม่มีชื่อเสียงหรือคุ้นหน้าในตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยสิ่งที่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือ การฟื้นความเชื่อมั่นทำให้ประเทศมีเสถียรภาพ และทำให้ประชาชน เชื่อว่า การปกครองจะเป็นไปด้วยหลักนิติธรรม และเข้ามาทำงานเพื่อประเทศจริงๆ ไม่สร้างให้เกิดความขัดแย้งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา รวมทั้งเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่อความเชื่อมั่นกลับมาการบริโภคและการลงทุนจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจและตลาดทุนไทยปรับตัวดีได้”

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการผู้จัดการ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วง 3-4 เดือนนี้จะยังผันผวนจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยคาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาในเชิงลบ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่อยู่ในระดับสูงจะกดดันให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศทำได้ยาก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัว แต่จะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะหลังจากเฟดลดดอกเบี้ยลง 1.25% บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยการคืนภาษีจำนวน 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาได้มาก ขณะที่สภาพคล่องทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในเอเชียที่มีทุนสำรองจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อสถาบันการเงินที่ขาดทุนจากปัญหาซับไพรม์ และมีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน เงินทุนส่วนนี้ก็จะไหลเข้าไปในสถาบันการเงินเหล่านั้น โดยจะเห็นได้จากที่ซิตีกรุ๊ป สามารถหาเงินเพิ่มทุนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ลดความรุนแรงลงได้

ขณะเดียวกัน คาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลังความเสียหายจากปัญหาซับไพรม์จะชัดเจนขึ้น และตลาดหุ้นจะลดความผันผวน สำหรับปัจจัยทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้นทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มลดความกังวลลง โดยยังมีนักลงทุนต่างชาติบางส่วนที่รอดูนโยบายของรัฐบาลใหม่ให้ชัดเจนก่อน ซึ่งเชื่อว่าเมื่อเห็นนโยบายที่ชัดเจนแล้วนักลงทุนต่างชาติก็จะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เพราะตลาดหุ้นไทยยังมีค่า P/E ต่ำ เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นในเอเชีย

**โบรกเกอร์เชื่อหุ้นผันผวนหนัก

บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยในบทวิเคราะห์ประจำเดือน ก.พ.2551 โดยระบุว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกในวันนี้จะยังคงผันผวนต่อไป โดยในเดือนนี้จะมีตัวแปรที่อาจจะส่งผลต่อเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ รวมถึงข้อมูลทางเศรษฐกิจต่างๆ และมาตรการของเฟดและรัฐบาลกลางสหรัฐฯเพื่อแก้ไขปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวในกรอบ 700-800 จุด

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยยังคงแข็งแกร่ง ทำให้บริษัทจึงไม่มีเหตุผลที่จะปรับลดเป้าดัชนีปลายปี 2551 ที่ระดับ 1,000 จุดลงในขณะนี้ แม้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราเชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะต่ำกว่าระดับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ในขณะนี้ และได้ถูกตอบรับไปในราคาหุ้นขณะนี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม บริษัทปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศปี 2551 ลงจาก 5.50% เป็น 4.50-5.00% โดยเหตุผลหลัก ก็คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ, ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง และโอกาสการแข็งค่าของเงินบาทที่เพิ่มขึ้น
ในส่วนของอัตราเงินปันผล ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าดึงดูดใจ หลังจากราคาหุ้นอ่อนตัวลงมามาก และเมื่อเปรียบเทียบกับคาดการณ์ถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อ โดยหุ้นที่เราทำการศึกษาทั้งหมดมีอัตราเงินปันผลตอบแทนเฉลี่ยในปี 2550 อยู่ที่ 5.59%

สำหรับ 3 กลยุทธ์หลักเผชิญหน้าต่อตลาดที่ผันผวนในเดือนกุมภาพันธ์ ดังนี้ 1) เก็งกำไรหุ้นขนาดใหญ่ตามกรอบการเหวี่ยงของดัชนีสำหรับนักลงทุนระยะสั้น 2) เน้นหุ้นผลประกอบการที่มีแนวโน้มเติบโตดีสำหรับนักลงทุนระยะกลาง และ 3) เลือกหุ้นที่มีอัตราการจ่ายปันผลสูงสำหรับนักลงทุนระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น