xs
xsm
sm
md
lg

ผลพวงจากการปราบปรามนองเลือดเขย่าเศรษฐกิจไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ผู้เชี่ยวชาญภาคอุตสาหกรรมระบุว่า ข่าวผู้ชุมนุมเสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บอีกกว่า 400 คนจากการใช้กำลังปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจในระหว่างการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันอังคาร (7) อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติรู้สึกท้อใจ และจะส่งผลกระทบหนักต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งกำลังดิ้นรนหาทางรอดในท่ามกลางวิกฤตการเงินโลกและความไม่สงบที่ยืดเยื้อ

"ผมคิดว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อมา 2 ปีกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่ามกลางความไม่มั่นคงทางการเงินทั่วโลกเช่นนี้ จะเห็นว่าพอรวมทั้งสองเรื่องแล้วก็ไม่ใช่เรื่องดีเลย" วินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิตช์ เรตติงส์ สาขากรุงเทพฯ กล่าว

ตลาดหุ้นของไทยเริ่มตกลงมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม เมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เริ่มรณรงค์ขับไล่พรรคพลังประชาชนซึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ตกลงไปเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์นับจากวันเริ่มต้นรณรงค์เมื่อ 23 พฤษภาคมเป็นต้นมา

หลังจากนั้นความตึงเครียดได้ลุกลามมาจนถึงช่วงปลายเดือนสิงหาคม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมตัดสินใจเคลื่อนขบวนเข้าไปยึดทำเนียบรัฐบาล จนเป็นเหตุให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ได้คัดค้านรัฐบาลใหม่ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรซึ่งเคยถูกประท้วงขับไล่เมื่อปี 2006 และนำไปสู่การรัฐประหารในท้ายที่สุด

ทว่าสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช และคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ถูกกดดันให้ลาออกหลังจากที่ศาลพิพากษาให้นายสมัครมีความผิดฐานรับเงินค่าจ้างจากการไปออกรายการอาหารทางโทรทัศน์ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

จากนั้น พรรคร่วมรัฐบาลก็เร่งรีบเสนอชื่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา โดยที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่อันประกอบด้วยบุคคลที่ไม่เป็นที่รู้จักมักก็ได้สร้างข้อกังขาให้กับบริษัทต่างชาติจำนวนมากว่า พวกเขาจะต้องติดต่อทำธุรกิจกับใครแน่

ด้านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (บีโอไอ) ก็ได้ให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของตนว่า ความวุ่นวายทางการเมืองทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจไปราว 100,000 ล้านบาท และทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวขาดหายไปอย่างน้อย 42,000 ล้านบาท

"นักลงทุนรายใหม่ที่กำลังคิดว่าจะเอาเงินไปลงทุนที่ไหนดี ก็จะไม่เอาเงินไปลงในประเทศที่เพิ่งยุติการประกาศภาวะฉุกเฉิน" นันเดอร์ ฟอน เดอร์ ลูฮ์ ประธานหอการค้าต่างประเทศร่วมในประเทศไทยบอก

"โชคดีที่ยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินไปแล้ว แต่คราวนี้ก็มีเรื่องการใช้ความรุนแรงอีก"

เขากล่าวอีกว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นคงไม่ทำให้โครงการต่างๆ ที่ต่างชาติลงทุนและดำเนินการอยู่แล้ว ต้องสะดุดลง และว่าการประท้วงรุนแรงเมื่อครั้งที่แล้วก็ส่งผลกระทบต่อพื้นที่บางส่วนเท่านั้น ส่วนคนอื่นๆ ก็ดำเนินชีวิตกันไปตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ภาพเหตุการณ์ความรุนแรงถึงขั้นเลือดตกยางออกในไทยที่เผยแพร่ทางรายการโทรทัศน์ไปทั่วโลกนั้นก็เกิดขึ้นพร้อมกันไปกับช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังรับมือกับวิกฤตการณ์ทางการเงิน อันเป็นผลจากการล้มครืนของตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ

อาจารย์ ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภครายเดือน กล่าวว่า ในท่ามกลางความปั่นป่วนของตลาดโลก คนไทยกำลังรอดูท่าทีอย่างระมัดระวังว่าผู้ชุมนุมจะเดินเกมอย่างไรต่อไป

เขาบอกอีกว่า "ในขณะที่ยังไม่มีอะไรชัดเจน คนไทยจะคิดว่าต้องมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แล้วทุกคนก็จะหันไปออมเงิน และลดปริมาณการใช้จ่ายและการลงทุนลงทั้งๆ ที่มันเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ ตอนนี้ความหวังเดียวจึงอยู่ที่เรื่องงบประมาณ รัฐบาลจะต้องเป็นฝ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้จ่ายภาครัฐ"

ทั้งนี้ในช่วงต้นเดือนกันยายน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ทรุดดิ่งลงมาต่ำที่สุดในรอบ 10 เดือน อยู่ที่ระดับ 69.6 โดยค่ามาตรฐานที่ถือว่าปกติ คือ 100
กำลังโหลดความคิดเห็น