xs
xsm
sm
md
lg

คลังปัดลดภาษีนิติบุคคล สอท.จี้รับมือส่งออกทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมและหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)วานนี้ (3 ต.ค.) ว่า ส.อ.ท.ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลก โดยเสนอให้คลังดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอ เนื่องจากสภาพคล่องโลกตึงตัว ทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถระดมทุนในต่างประเทศจึงหันมาระดมทุนในประเทศแทน รวมทั้งดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนให้สามารถแข่งขันได้ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและงบลงทุนเมกะโปรเจกต์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีแนวทางในการลดปัญหาความยุ่งยากซับซ้อนในขั้นตอนการดำเนินการที่เกี่ยวกับภาครัฐ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชน โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับ ส.อ.ท.ต่อไป เนื่องจากเป้าหมายของรัฐบาลต้องการช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่ประชาชน และสนับสนุนให้ ส.อ.ท.มีส่วนร่วมในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชนด้อยโอกาสผ่านโครงการต่างๆของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โครงการรักษา30บาท ฯลฯ เพื่อยกระดับรายได้ของประชาชนที่ยากจนให้สูงขึ้น สุดท้ายทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้ ซึ่งจะทำให้โครงสร้างการจัดเก็บภาษีโดยรวมลดลงในอนาคต
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้เสนอขอให้คลังดูแลสภาพคล่อง อัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากสมาชิก ส.อ.ท.ส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออก เมื่อเศรษฐกิจโลกผันผวน ก็เกรงว่าจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนตามไปด้วย รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกจะปรับลดลง ซึ่งแบงก์ชาติก็น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง หลังจากเงินเฟ้อลดตามราคาน้ำมันโลก
"การส่งออกคาดว่าปีหน้าจะมีปัญหาในบางกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จึงอยากให้หน่วยงานรัฐที่ดูแลไม่ว่ากระทรวงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรม วางกลยุทธ์ และเรียกเอกชนไปหารือว่ามีอุตสาหกรรมใดได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งขณะนี้ ส.อ.ท.อยู่ระหว่างรวบรวมรายละเอียดก่อนเสนอรัฐบาลต่อไป" นายสันติกล่าวและว่า กรณีที่นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกปีหน้าโต 15-20% คงต้องไปดูว่าเอกชนสามารถรักษาฐานตลาดส่งออกทั้งในสหรัฐฯ ยุโรปและ ญี่ปุ่นได้หรือไม่ ส่วนตัวเลขการขยายตัวการส่งออกจะเป็นเท่าไหร่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ คงต้องมีการหารือกับภาครัฐอีกครั้ง
นอกจากนี้ ให้กระทรวงการคลังเข้ามาดูแลการกองทุนเอสเอ็มอีดอกเบี้ยต่ำ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะสิ้นสุดในปี 2553 หลังจากกฎระเบียบใหม่ทางแบงก์ชาติไม่สามารถดูแลบริหารจัดการให้ได้ ซึ่งต้องไปหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ แบงก์รัฐว่าจะช่วยเหลือได้หรือไม่
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษารมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้สภาพคล่องในระบบมีอยู่ 4 แสนล้านบาท หากภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนและรัฐใช้จ่ายเมกะโปรเจกต์ จะทำให้สภาพคล่องลดลง ดังนั้นการศึกษาปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบเพื่อลดภาษีภาพรวมลงคงทำไม่ได้ในช่วงนี้ เนื่องจากไทยยังขาดดุลงบประมาณมาก หากรายได้จากการเก็บภาษีไม่เพียงพอก็จะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐในการลงทุนก่อสร้าง สาธารณูปโภค รวมทั้งขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกด้วย
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่องตึงตัว โดยการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน และอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบโดยการซื้อคืนพันธบัตร ประเมินว่าแบงก์ชาติน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง0.25-0.50%ภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากปัจจัยเงินเฟ้อไม่น่าเป็นห่วง
ทั้งนี้ ข้อเสนออย่างเป็นทางการของ ส.อ.ท.ประกอบด้วย 1. การรับมือกับวิกฤติการเงินสหรัฐฯที่จะมีผลกระทบต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของโลก 2. รัฐบาลต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุนภาครัฐ 3. ควรเร่งกระตุ้นการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4. เร่งสร้างความเชื่อมั่นเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศที่ขณะนี้พบว่าประชาชนมีแรงซื้อที่ชะลอตัวมาก
5. ให้คงวงเงินช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่มีอยู่เดิม 30,000 ล้านบาท ที่อนุมัติผ่านสถาบันการเงินต่างๆ ในการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม ที่ยังเบิกจ่ายไม่หมด เช่น เงินสนับสนุนภาคเอสเอ็มอี 3 จังหวัดชายแดนใต้ 6. ให้สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำ หากสนับสนุนเอสเอ็มอีรายละ 50,000 บาท-2 ล้านบาท ก็จะช่วยเหลือได้ 40,000 ราย
7. มาตรการช่วยเหลือด้านภาษี เช่น พิจารณาลดภาษีรายได้นิติบุคคลเหลือ 20-25% การยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าและอุปกรณ์ที่จะดูแลการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการหักค่าใช้จ่ายเป็น 2 เท่าสำหรับอุปกรณ์นำเข้าสินค้าและอุปกรณ์ที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม 8. ต้องการให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลทำงานประสานงานกันและไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลเศรษฐกิจแท้จริง โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง พลังงาน อุตสาหกรรม เกษตรและสหกรณ์ พาณิชย์ และต่างประเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น