xs
xsm
sm
md
lg

"High Season"ดันบริโภคฟื้น บราซิลได้ลุ้นส่งออกสินค้าเกษตรโต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเทศเกิดใหม่ทั่วโลกทั้งในเอเชีย ยุโรปและตินอเมริกานั้น มีแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจค่อนข้างน่าดี จนดังความสนใจจากทั่วโลกเข้าไปลงทุนอย่างมากมาย ซึ่งในความแตกต่างของเศรษฐกิจแต่ละประเทศนั้น ถือเป็นประโยชน์ที่สำคัญ โดยที่จีนนั้น มีการผลิตและการบริโภคในประเทศที่สูงจากประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก เช่นเดียวกันอินเดีย ที่มีจำนวนประชากรที่มาก ขณะที่ประเทศบางแห่ง อย่างรัสเซียและบางประเทศในละตินอมเริกานั้น มีสินค้าส่งออกหลักที่เป็นที่ต้องการของทั่วโลกอย่าง พลังงาน ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศจำนวนมาก ส่วนประเทศบราซิลนั้น มีสินค้าเกษตรเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ ซึ่งในช่วงหนึ่งก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤต ได้อานิสงส์ไปอย่างมากจากราคาสินค้าเกษตรที่พุ่งขึ้นไป
ในยามที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเริ่มฟื้นตัว ประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ จึงเป็นที่หมายปองของนักลงทุนทั่วโลกกันเช่นเดิม เพราะไม่ว่าจะอย่างไร การเป็นประเทศเกิดใหม่นั้น มีแนวโน้มที่ดีเสมอในการที่จะก้าวขึ้นไปเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านต่างๆ
ล่าสุด มีตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศบราซิลออกมาว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 1.9% ซึ่งถือว่ามีความน่าสนใจอยู่เช่นกัน แต่แนวโน้มจะเป็นอย่างไร ไปฟังมุมมองจากผู้จัดการกองทุนกันครับ ..
 มนรัฐ ผดุงสิทธิ์  กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด บอกว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของบราซิลในไตรมาส 2 ที่ขยายตัวอยู่ที่ 1.9% นั้น ต้องถือว่าอยู่ในระดับที่ดีสำหรับในช่วงที่เริ่มฟื้นตัว เพราะจากในช่วงก่อนหน้านี้ที่ได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างมาก โดยเศรษฐกิจของบราซิลนั้น มีฐานเศรษฐกิจที่ใหญ่และมีเติบโตของเศรษฐกิจการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญเศรษฐกิจของบราซิลมีการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก ซึ่งมีประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญคือ สหรัฐและยุโรป ที่เศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างเป็นปกติ ดังนั้น ต้องจับตาดูเศรษฐกิจของสหรัฐว่าจะเป็นอย่างไรบ้างในช่วงปลายปีนี้จนถึงปีหน้า
"เมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯและยุโรปซึ่งถือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ ประเทศผู้ค้าหลักอย่างประเทศบราซิลก็จะดีขึ้นตามไปด้วยอย่างแน่นอน โดยที่บริษัทขนาดใหญ่จะดีขึ้นมาก่อน " นายมนรัฐ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของบราซิลนั้น เขาบอกว่า เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของทั้งโลกปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจของสหรัฐฯและยุโรปเริ่มมีตัวเลขการนำเข้าที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การส่งออกของประเทศต่างๆไปยังสหรัฐฯกับยุโรป ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย และที่สำคัญคือในช่วงปลายปี 2552 ถึงช่วงต้นปี 2553 ถือเป็นช่วงที่ทั่วโลกมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (High Season) ที่ส่งผลไปถึงการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่มากขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจได้รับผลดีตามไปด้วย ดังนั้น จากปัจจัยดังกล่าวนี้ ต้องถือว่าเศรษฐกิจทั่วโลก มีความเสี่ยงที่ค่อนข้างน้อย
ด้านสถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) รายงานถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศบราซิลว่า เศรษฐกิจของบราซิลมีอัตราการขยายตัวช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 อยู่ที่ 1.9% และหดตัวที่ -1.2 % ซึ่ง ถือว่าเศรษฐกิจบราซิลพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) นอกจากนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ เป็นการขยายตัวที่ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ว่าเศรษฐกิจบราซิลในช่วงดังกล่าวจะขยายตัวที่ 1.7% และหดตัวที่ -1.4 โดยเศรษฐกิจบราซิลที่ขยายตัวเหนือกว่าการคาดการณ์ของตลาดนั้นเป็นผลมาจากอุปสงค์ภายในประเทศ (Domestic Demand) ซึ่งขยายตัว 3.2 % และการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัว 2.2 %
ทั้งนี้ ประเมินว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของบราซิลที่จะอยู่ที่ 1.9 % โดยเป็นผลมาจากการสนับสนุนของภาครัฐและการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยรัฐบาลบราซิลได้ดำเนินนโยบายมาตรการยกเว้นภาษี เพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐและลดดอกเบี้ยลง 5 % ตั้งแต่เดือนม.ค. 2552 ซึ่งอยู่ที่13.75 % มาอยู่ที่ 8.75 % ในปัจจุบัน นอกจากนี้ การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรหรือ Soft Commodity อาทิ น้ำตาล กาแฟ เป็นต้น มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะราคาน้ำตาล ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของบราซิล มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 66 %ถึง 108 % จะมีส่วนช่วยรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของบราซิลให้ขยายตัวต่อเนื่อง ผนวกกับสถานการณ์ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลงมาก ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆของบราซิลให้ขยายตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น