“เฟด” ประกาศหั่นดอกเบี้ยระลอก 2 ตามคาด 0.5% ภายใน 2 สัปดาห์ ลดไปถึง 1.25% สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่งผลดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าหนัก คาดนักลงทุนแห่ขายทิ้งเงินดอลลาร์ กระทบตลาดเงิน-ตลาดทุนโลกปั่นป่วน เม็ดเงินร้อนเก็งกำไร ราคาทองคำ-น้ำมันพุ่งขึ้นทันที นักวิเคราะห์ชี้ ร้ายแรงกว่าปี 40 ถึง 3 เท่า แนะแบงก์ชาติรับมือบาทแข็ง หวั่นภาวะราคาสินค้า-ค่าครองชีพ ดันเงินเฟ้อ เครื่องมือใช้ดอกเบี้ยแก้เกมอาจมีปัญหา
วันนี้ (31 ม.ค.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ประกาศปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 0.5% จากอัตรา 3.5% ลงเหลือแค่ 3.0% ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2548 ครั้งนี้นับเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ภายในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่การลงมติครั้งล่าสุดไม่ได้มีคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ เนื่องจากนายริชาร์ด ฟิชเชอร์ ประธานธนาคารกลางสาขาดัลลัส ไม่เห็นด้วยและต้องการให้คงระดับอัตราดอกเบี้ยตามเดิม
การประชุมลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด มีขึ้นในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐรายงานว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ขยายตัวเพียง 0.6% เท่านั้น เพราะมีความวิตกกังวลกันว่า วิกฤตจากการปล่อยสินเชื่อการเคหะสำหรับผู้กู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำหรือซับไพรม์ และหนี้บัตรเครติดจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ
**ดอลลาร์อ่อนยวบทันทีเมื่อเทียบเงินสกุลหลัก
ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงทันที หลังจากที่เฟด ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นลงอีก 0.50% และยังส่งสัญญาณว่าอาจมีการลดดอกเบี้ยลงอีกในอนาคต นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินยูโรแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.4898 ดอลลาร์ต่อยูโร จากระดับของวันอังคารที่ 1.4776 ดอลลาร์ต่อยูโร ขณะที่ค่าเงินปอนด์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.9942 ดอลลาร์ต่อปอนด์
ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อ่อนตัวลงแตะระดับ 106.95 เยนต่อดอลลาร์ จากระดับ 107.12 เยนต่อดอลลาร์ และอ่อนตัวลงแตะระดับ 1.0857 ฟรังซ์ต่อดอลลาร์ จากระดับ 1.0941 ฟรังซ์ต่อดอลลาร์
“ดอลลาร์อ่อนตัวลงทันทีที่คณะกรรมการเฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นลงอีก 0.50% สู่ระดับ 3.0% และลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลงอีก 0.50% สู่ระดับ 3.5% ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแม้เป็นหนึ่งในแนวทางที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ แต่ทำให้สินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์มีมูลค่าลดลงและไม่น่าดึงดูดใจ”
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ที่ระบุว่า จีดีพีไตรมาส 4 ปี 50 ขยายตัวขึ้นเพียง 0.6% ในไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งลดลงอย่างมากจากระดับของไตรมาส 3 ที่ 4.9% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 1.2%
นายไมเคิล วูลฟอล์ก นักวิเคราะห์จากแบงก์ออฟนิวยอร์ก กล่าวว่า นักลงทุนมองว่าแม้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50% แต่ตัวเลขเงินเฟ้อภายในประเทศยังคงปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัญญาที่เฟดจะต้องตามแก้ไขต่อไป
การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดเป็นการปรับลดครั้งที่ 4 นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 2550 และเกิดขึ้นเพียง 8 วันหลังจากเฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.75% เมื่อวันอังคารที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการเฟดคาดหวังว่าการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้และครั้งก่อน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตปานกลาง และจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
**ราคาทองคำพุ่งแตะระดับสูงสุด
ด้านภาวะราคาทองคำในการซื้อขายตลาดนิวยอร์ก ซึ่งมีการซื้อขายทางอิเล็กทรอนิค ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากเฟด ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ซึ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง และกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำอย่างคึกคัก
นายคาร์ลอส ซานเชส นักวิเคราะห์จากซีเอ็มพี กรุ๊ป กล่าวกับสำนักข่าวเอพี โดยระบุว่า การซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีขึ้นหลังจากตลาดทองคำ NYMEX ปิดทำการแล้วนั้น สัญญาทองคำส่งมอบเดือน เม.ย.พุ่งขึ้นแตะระดับสุงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 942.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากที่เฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อยับยั้งเศรษฐกิจไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย
ก่อนที่เฟดจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ย สัญญาทองคำส่งมอบเดือน เม.ย.ในตลาด NYMEX ปิดที่ 926.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ร่วงลง 4.50 ดอลลาร์ เมื่อคืนนี้
ทั้งนี้ คณะกรรมการเฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นลงอีก 0.50% สู่ระดับ 3.0% และลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลงอีก 0.50% สู่ระดับ 3.5% เพื่อป้องกันเศรษฐกิจไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย โดยคณะกรรมการเฟดคาดหวังว่าการลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุด และการลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.75% ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตปานกลาง และจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
“ผมไม่คิดว่าจะมีอะไรมาหยุดยั้งการพุ่งขึ้นของราคาทองคำได้” นายคาร์ลอส กล่าวสรุปด้วยความเชื่อมั่น
นายเจมส์ สตีล นักวิเคราะห์จาก HSBC ในกรุงนิวยอร์ก กล่าวว่า ตลาดทองคำนิวยอร์กขานรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด นักลงทุนมองว่าทองคำและโลหะมีค่าประเภทอื่นๆ เป็นแหล่งการลงทุนที่ปลอดภัยในยามที่เศรษฐกิจผันผวน
นักวิเคราะห์หลายรายคาดว่า ราคาทองมีแนวโน้มพุ่งขึ้นแตะระดับ 1,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนเดือน เม.ย.นี้
**ราคาน้ำมันดิบพุ่ง “โอเปก” ยันไม่เพิ่มกำลังการผลิต
สำหรับผลกระทบแรงกดดันด้านราคาน้ำมัน ล่าสุด รัฐมนตรีของกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (กลุ่มโอเปก) ออกมาระบุว่าอาจจะไม่เพิ่มการผลิตน้ำมันตามแรงกดดันของสหรัฐฯ ในการประชุมที่จะจัดขึ้นที่กรุงเวียนนาของออสเตรีย ในวันพรุ่งนี้
โดยซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของกลุ่มมีท่าทีพอใจต่อปริมาณการผลิตและความต้องการน้ำมันที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่สมาชิกอีกหลายประเทศยังไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องขยายเพดานการผลิต เพราะเกรงว่าความต้องการและราคาน้ำมันจะลดลงอย่างมาก หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ตามที่คาดกันไว้
สำหรับราคาซื้อขายน้ำมันดิบชนิดไลท์ที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อวานนี้ สูงขึ้น 69 เซ็นต์ อยู่ที่ระดับ 92.33 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการที่ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนท์แถบทะเลเหนือเพิ่มขึ้น 53 เซนต์ อยู่ที่ระดับ 92.53 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
**บาทแข็งขึ้นแตะ 33.01 กดดันเงินเฟ้อ
นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 33.01/02 บาทต่อดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากปิดตลาดวานนี้ซึ่งอยู่ที่ระดับ 33.04/07 บาทต่อดอลลาร์
การปรับลดดอกเบี้ย 0.5% ของเฟดเมื่อคืนนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของยุโรป 1% จึงทำให้ค่าเงินยูโรปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนสกุลเงินในตลาดต่างประเทศช่วงเปิดตลาดเช้านี้ เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.4845/47 ดอลลาร์ต่อยูโร ซึ่งตลาดยังรอดูว่าค่าเงินยูโรจะสามารถปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1.5000 ดอลลาร์ต่อยูโร ได้หรือไม่ ขณะที่เงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐ ปรับร่วงลง
**บาทแข็ง-เงินเฟ้อ ร้ายแรงกว่าปี 40
นายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวแสดงความเป็นห่วงเศรษฐกิจไทยในปี 2551 หลังเฟดปรัดลดอัตราดอกเบี้ยแรงหลายระลอก โดยเชื่อว่า ผลกระทบจะลามเป็นลูกโซ่ และเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ค่าเงินของตลาดโลกมีความผันผวน เนื่องจากค่าเงินของสหรัฐฯ จะอ่อนตัวลง ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่า ดังนั้นเป็นงานหนักของรัฐบาลชุดใหม่ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องหามาตรการรองรับโดยด่วน
“ผมมองว่า ธปท.จะประสบปัญหาวิกฤต 2 ทาง คือ รับภาระขาดทุนในการแทรกแซงค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ รวมถึงภาระดอกเบี้ยที่จะออกพันธบัตรเพิ่มเติมในการดูดสภาพคล่องเพื่อแก้ปัญหาค่าเงินแข็งและเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นในอนาคต”
ทั้งนี้ ยอมรับว่าทั่วโลกขาดความมั่นใจเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างมากกรณีที่จะลดดอกเบี้ยอีก 0.5% เพราะในช่วง 1-2 สัปดาห์ เท่ากับว่าเฟดลดดอกเบี้ยถึง 1.25% ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ซึ่งผลที่ตามมาคือการเก็งกำไรค่าเงิน ทองคำ น้ำมันกันทั่วโลก เนื่องจากต่างชาติไม่ต้องการถือเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐไว้
“ถือว่าเป็นงานหนักของ ธปท. ที่ต้องรับภาระถึง 2 เด้ง จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการให้ดี ภายใต้ข้อจำกัด เพราะปัจจุบันใช้เงินบาทซื้อดอลลาร์สหรัฐหลายแสนล้านบาท มากกว่าช่วงวิกฤติปี 2540 ถึง 3 เท่า ขณะเดียวกันก็ต้องรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ การเก็งกำไรค่าเงินบาทที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง”
นายสมภพ กล่าวอีกว่า มาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องดำเนินการเร็วที่สุด คือ แก้ปัญหาการปรับตัวของราคาสินค้า ที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการขอขึ้นราคาสินค้าหลายราย ขณะที่ค่าจ้างของลูกจ้างปรับตัวไม่ทันตามค่าครองชีพ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าทำได้ลำบาก
สำหรับปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดในสหรัฐในปี 51 จะมีผลกระทบต่อโลกรุนแรงกว่าเมื่อปี 43-44 เพราะช่วงนี้เศรษฐกิจจีนช่วยพยุงให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันจีนก็มีข้อจำกัดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก