xs
xsm
sm
md
lg

ปีหนูไฟ! ฝรั่งทิ้งหุ้นไทยมูลค่าวูบ4แสนล.-กลุ่มPTTรูด11%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ตลาดหุ้นไทยยังหาแนวรับไม่เจอ วอลุ่มหายวับเหลือแค่ 1.1 หมื่นล้าน ฝรั่งขายแล้วเฉียด 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่แค่ 8 วันจากต้นปีหนูไฟ 6 บริษัทกลุ่มปตท.มาร์เกตแคปหายกว่า 2.4 แสนล้าน ส่วนมาร์เกตแคปตลาดรวมวูบกว่า 4 แสนล้านโบรกเกอร์แนะจับตาการพิจารณายุบพรรคพปช.วันนี้ ลุ้นผลการดำเนินแบงก์ปลายสัปดาห์ ด้านศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ปัจจัยใน-นอกประเทศจะกระทบตลาดหุ้นอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ระบุนักลงทุนรอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แนะนำลงทุนหุ้น"ธนาคาร- ค้าปลีก-ท่องเที่ยว" ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ คาดดัชนีสิ้นปี 1,080 จุด

ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (14 ม.ค.) ดัชนียังเดินหน้าปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีหลังนักลงทุนยังต่างเทขายหุ้นขนาดใหญ่โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานไม่ว่าจะเป็น PTT, PTTEP, PTTAR, TOP, PTTCH เป็นต้น โดยปัจจัยหลักที่ยังส่งผลทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในการลงทุนเนื่องจากปัจจัยลบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ถดถอย รวมถึงปัญหาการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีความชัดเจนโดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงมาปิดที่ 791.15 จุด ลดลง 5.32 จุด หรือ 0.67% โดยจุดสูงสุดของวันอยู่ที่ 794.29 จุด และจุดต่ำสุดอยู่ที่ 786.70 จุด มูลค่าการซื้อขาย 11,218.84 ล้านบาท
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,128.65 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 4.89 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 2,133.54 ล้านบาท
สำหรับหุ้นในกลุ่มพลังงานที่มีสัดส่วนในตลาดหลักทรัพย์มากกว่า 30% เป็นกลุ่มที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยหากพิจารณาเพียงแค่ 8 วันตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.-11 ม.ค. หุ้น 6 บริษัทในกลุ่มพลังงานประกอบด้วยหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, หุ้นบมจ.ปตท.ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม หรือ PTTEP, หุ้นบมจ.ปตท.เคมีคอล หรือ PTTCH, หุ้นบมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP, หุ้นบมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น หรือ PTTAR และบมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เกตแคป ปรับตัวลดลงถึง 2.39 แสนล้านบาทจาก ณ วันที่ 28 ธ.ค. 50รวมอยู่ที่ 2.213 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 1.973 ล้านล้านบาท ลดลง 2.394 แสนล้านบาท หรือ 10.82%
ในส่วนของมูลค่าตลาดรวมของตลาดหลักทรัพย์จาก ณ วันที่ 28 ธ.ค. 50 ซึ่งอยู่ที่ 6.636 ล้านล้านบาท ลดลงมาอยู่ที่ 6.211 ล้านล้านบาท ลดลง 4.244 แสนล้านบาท หรือ 6.40%
ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในกลุ่มปตท.วานนี้หุ้น PTT ราคาปิดที่ 320 บาท ลดลง 6 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,230.88 ล้านบาท, หุ้น PTTAR ราคาปิดที่ 38.75 บาท ลดลง 1.75 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,733.23 ล้านบาท, หุ้น TOP ราคาปิดที่ 78 บาท ลดลง 1.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 746.13 ล้านบาท, หุ้น PTTCH ราคาปิดที่ 105 บาท ลดลง 6 บาท มูลค่าการซื้อขาย 370.41 ล้านบาท และหุ้น PTTEP ราคาปิดที่ 153 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท มูลค่าการซื้อขาย 694.04 ล้านบาท
นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ นครหลวงไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ ทั้งตลาดหุ้นในสหรัฐฯและตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค ในขณะที่มูลค่าการซื้อขายปรับตัวลดลงค่อนข้างมากเนื่องจากได้รับผลกระทบทางจิตวิทยาจากตลาดหุ้นในต่างประเทศ
ทั้งนี้ นักลงทุนเริ่มมีการโยกย้ายการลงทุนจากตลาดหุ้นไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าไม่ว่าจะเป็นลงทุนในทองคำ และพันธบัตร ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากที่สุดในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว
นอกจากนี้ประเด็นที่ทำให้มูลค่าการซื้อขายในช่วงนี้ลดลงเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ โดยในวันนี้ศาลฎีกาจะพิจารณาคดีที่นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นฟ้องพรรคพลังประชาชนในข้อหาเป็นนอมินีให้กลุ่มพรรคการเมืองเดิม เรื่องดังกล่าวนักลงทุนค่อนข้างให้ความสนใจจึงทำให้ชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจน
สำหรับแนวโน้มการลงทุนในวันนี้ มีโอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากก่อนหน้านี้ดัชนีปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมาก โดยเชื่อว่าหากดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นได้คงไม่เกิน 805 จุด ขณะที่แนวรับในระยะสั้นอยู่ที่ 780 จุด

**โบรกฯยังเชียร์ซื้อหุ้นพลังงาน
นายแสงธรรม จรณชัยกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธการลงทุน บล.ธนชาติ เปิดเผยว่า เงินทุนต่างชาติที่ไหลออกอย่างต่อเนื่องกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี51 มาจากการขายหุ้นในกลุ่มพลังงานเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มพลังงานค่อนข้างมาก และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นหุ้นที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก นอกจากนี้ข่าวที่เกี่ยวข้องกับการคืนท่อก๊าซและทรัพย์สินแก่รัฐยังถือว่าเป็นประเด็นลบต่อปตท.ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุด
สำหรับแนวโน้มของราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานยังคงมีโอกาสปรับลงได้อีก หากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติยังคงมีอยู่ โดยต้องรอดูผลประกอบการในไตรมาสที่4/50 ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ส่วนตัวยังมองว่ากลุ่มพลังงานยังความน่าสนใจอยู่ แต่คงต้องรอจังหวะที่ราคาลงมากกว่านี้เนื่องจากช่วงนี้ยังมีความผันผวนอยู่มากโดยประเมินแนวรับที่ 780 จุด และแนวต้านที่ 800 จุด
นายอดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการเศรษฐกิจและกลยุทธ์ สถาบันวิจัย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดัชนีปรับตัวลดลงจากผลกระทบจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นน้ำมันและยังส่งผลต่อตลาดรวมเนื่องจากหุ้นพลังงานมีน้ำหนักในตลาดรวมกว่า 35% ขณะที่กลุ่มเคมีภัณฑ์ตลาดยังคงมองในแนวโน้มไม่ค่อยดี
ในส่วนของกลุ่มธนาคารยังไม่ได้รับความสนใจ เนื่องจากว่านักลงทุนรอการประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4/50 ซึ่งจะประกาศในช่วงปลายสัปดาห์นี้ไปจนถึงต้นสัปดาห์หน้า อีกทั้งรอดูทิศทางการเมืองไทยให้ชัดเจนด้วย ดังนั้นจึงแนะนำให้นักลงทุนรอความชัดเจนก่อนเข้าลงทุน

**หุ้นรูดต่อเนื่อง1-2เดือน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดทุนโลกอย่างต่อเนื่องจากในปีที่ผ่านมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นได้จากเมื่อเริ่มเปิดการซื้อขายในปี 2551 จนถึงวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นต่างๆหลายแห่งทั่วโลกร่วงลงอย่างหนักจากความกังวลเกี่ยวกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯหลังการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอหลายตัว
ในส่วนของการปรับตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้น ดัชนีร่วงลงไปแล้วถึง 57.92 จุด หรือ 6.75% ไปปิดที่ 800.18 จุด โดยที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิไปแล้วกว่า 15,822.84 ล้านบาท ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยร่วงลงไปมากเมื่อเทียบกับบรรดาตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาคจากการได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง และการที่นักลงทุนต้องการรอความชัดเจนในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้าหรือในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ นอกจากปัจจัยต่างประเทศที่ได้กล่าวในข้างต้นแล้วนักลงทุนจะยังคงให้ความสนใจกับปัจจัยทางด้านการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นต่างๆ อาทิเช่น การรับรองการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการพิจารณาให้ใบเหลืองใบแดงของ กกต. ก่อนการเปิดประชุมรัฐสภา การพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งในวันที่ 15 มกราคม การเปิดประชุมรัฐสภาและโฉมหน้าของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลชุดใหม่
นอกจากนี้ มองว่าหลังจากที่มีความชัดเจนในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วในระยะถัดไป นักลงทุนคงจะสนใจในเรื่องของแนวนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนของรัฐบาลชุดใหม่ว่าเป็นเช่นไร และรัฐบาลให้ลำดับความสำคัญกับการดำเนินการในเรื่องใดเป็นลำดับต้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ารัฐบาลใหม่น่าจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ในส่วนของปัจจัยทางการเมือง การปรับตัวของตลาดหุ้นไทยคงจะขึ้นอยู่กับการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความคาดหวังเชิงบวกเกี่ยวกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคและนักลงทุนหลังสถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจน น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในปีนี้ แทนที่การส่งออกซึ่งมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณการการขยายตัวของจีดีพีภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันที่แตกต่างกัน

**กสิกรฯเชื่อสิ้นปีทะลุพันจุด
สำหรับการประเมินผลกระทบจากราคาน้ำมันแบ่งเป็น 3 กรณี คือ กรณีพื้นฐาน โดยให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล คาดการณ์แนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 อยู่ภายในช่วง 4.5% และอัตราเงินเฟ้อที่ 3.5% ในขณะเดียวกันถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่รุนแรงนัก โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยประมาณ 85 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ในกรณีนี้ อัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.0% คาดว่าจีดีพีของไทยจะขยายตัวค่อนข้างดี คือประมาณ 5.2%
ส่วนกรณีเลวร้าย เป็นกรณีซึ่งจะกดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นโดยรวม และผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนมากที่สุด โดยคาดว่าหากราคาน้ำมันมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรลในปีนี้ การเติบโตของจีดีพีอาจจะต่ำลงมาอยู่ในช่วง 4.0% โดยในกรณีนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นสู่ 4.0% โดยในกรณีนี้ ความเสี่ยงของภาวะที่ปัญหาเงินเฟ้อเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ (Stagflation) จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน การที่อัตราเงินเฟ้อมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ที่ 3.25% ในปัจจุบัน ก็อาจส่งผลให้ธปท.ต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแม้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยพื้นฐานที่ถือว่าเป็นประเด็นบวกกับตลาดหุ้นไทย ได้แก่ การที่เป็นตลาดหุ้นที่มีราคาถูก (ค่าP/Eต่ำ) กว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค ในขณะที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) สูง โดยจากการรวบรวมค่า P/E และ Dividend Yield ของดัชนีตลาดหุ้นไทยเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคจะถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจในการลงทุน โดยบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยมีมุมมองเชิงบวกกับหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการการบริโภค และการลงทุนในประเทศในปีนี้ ได้แก่ กลุ่มธนาคาร กลุ่มค้าปลีก กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มที่อยู่อาศัย กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยคาดการณ์ระดับเป้าหมายของดัชนีตลาดหุ้น ณ สิ้นปี 2551 ที่ระดับ 1,080 จุด
กำลังโหลดความคิดเห็น