ประธาน ส.อ.ท.เตือนผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับมือ ผลกระทบปัญหาซับไพรม์ หลังเฟดหั่นดอกเบี้ยกะทันหัน 0.75% ระบุ เป็นการใช้มาตรการสยบปัญหาที่รุนแรง และอาจจะมีอีกหลายระลอก คาดเม็ดเงินร้อนจำนวนมาก จากตลาดหุ้นสหรัฐฯและยุโรปจะไหลเข้า-ออกเร็ว เพื่อเก็งกำไรส่วนต่างในตลาดหุ้นทั่วโลก ส่งผลให้ค่าเงินผันผวนรุนแรง ผู้ส่งออกไทย อาจเดี้ยงคาที่ได้ง่ายๆ
วันนี้ (23 ม.ค.) นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 0.75% เมื่อวานนี้ ถือว่าเป็นการใช้มาตรการด้านการเงินที่รุนแรง และกะทันหันพอสมควร เนื่องจากเฟดเกรงว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในอัตราเร่ง และการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ ก็เพื่อให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เดินหน้าต่อไปได้ และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
สำหรับประเทศไทย เราคงจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่โซนถดถอยจริง ก็จะส่งผลกระทบหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ค้าขายกับสหรัฐฯมาก ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย นักอุตสาหกรรมไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับสถานการณ์ที่จะตามมา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ส่วนผลกระทบจะรุนแรงถึงไทยหรือไม่นั้น นายสันติ ระบุว่า ขณะนี้ไม่สามารถระบุได้ ต้องติดตามดูความรุนแรงที่เกิดขึ้นสักระยะ และการลุกลามของปัญหาว่ามีวงกว้างมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ จะต้องร่วมกันหาตลาดใหม่ให้กับผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะประเทศได้รับผลกระทบน้อย เช่น แอฟริกาและตะวันออกกลาง ส่วนตลาดในประเทศของไทย เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ควรดูแลต้นทุนภาคการผลิต พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับนักลงทุน ขณะเดียวกัน จะต้องดูแลปัญหาค่าครองชีพของประชาชน
**ดัชนีความเชื่อมั่นปี 50 ต่ำสุดรอบ 5 ปี
นายสันติ ยังกล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เฉลี่ยปี 2550 อยู่ที่ระดับ 80.9 ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี หรือตั้งแต่มีการสำรวจจัดทำดัชนี โดยในปี 2546 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 105.5 ปี 2547 อยู่ที่ 102.3 ปี 2548 อยู่ที่ 93.2 ปี 2549 อยู่ที่ 93.8 โดยสาเหตุจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้น ในปี 2551 คาดว่า ดัชนีเชื่อมั่นภาพรวมน่าจะมีโอกาสฟื้นตัวมากกว่าในปี 2550 เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งจะมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุนจะกลับมาเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกคงจะเติบโตได้ในระดับกว่า 4% ก็ถือว่าเป็นอัตราที่ไม่ได้เลวร้ายนัก
“นโยบายประชานิยมคาดว่ารัฐบาลใหม่คงนำมาใช้อีก ก็จะสามารถกระตุ้นไปถึงรากหญ้าได้หากมีการใช้ดีๆ ก็จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ส่วนกรณีการแต่งตั้งรัฐมนตรีต่างๆ สิ่งที่อยากเห็นคือ รมว.คลัง ที่ควรจะต้องเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับ เพราะเป็นหัวใจของเศรษฐกิจที่นักลงทุนจับตามองอยู่” นายสันติ กล่าว
นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค.2550 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 536 ตัวอย่างครอบคลุม 36 กลุ่มอุตสาหกรรม ของ ส.อ.ท.กล่าวว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ธ.ค.50 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 79.8 จาก 52.3 ในเดือน พ.ย.50 และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดือนธันวาคม 2549 ที่อยู่ในระดับ 85.9 ซึ่งความเชื่อมั่นที่ลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขายในต่างประเทศที่มีการปรับตัวลดลงมาจากเดือนพฤศจิกายน 2550 โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก อาหาร พลาสติก เนื่องจากผู้ประกอบการวิตกเกี่ยวกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน
สำหรับดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เท่ากับ 98.1 ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ ณ เดือนพฤศจิกายน 2550 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางอาหาร เฟอร์นิเจอร์ เหล็ก แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความเชื่อมในของผู้ประกอบการที่ดีขึ้นมาก จากการคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศจะมีแนวโน้มดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการกระตุ้นจากเมกะโปรเจกต์ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่คาดว่าจะออกมาในปี 2551 ซึ่งสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 97.0 ซึ่งต่ำกว่า 100 ไม่มาก และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน
“คาดว่า 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการยังกังวลการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมาเป็นภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกสำหรับการแข็งค่าของเงินบาท และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในทิศทางสูงขึ้นเป็นปัจจัยที่กระทบน้อยกว่า ขณะที่มองว่าปัจจัยด้านการเมืองจะส่งผลกระทบต่อกิจการน้อยลง” นายอดิศักดิ์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย