xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ยื้อสรุปค่าเช่าท่อก๊าซ "ฉลองภพ" ยืนกรานต้องจบภายในรัฐบาลนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ประเสริฐ" ระบุยังไม่ได้ข้อสรุปค่าเช่าท่อก๊าซ ปตท. พร้อมขอประชุมต่อ พรุ่งนี้ วงในระบุ ปตท.ยื้อประเด็นค่าเช่าท่อฯ ต้องหักค่าเสื่อมราคา แต่ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นการผูกขาด และมูลค่าเพิ่มในอนาคต ทั้งรายได้ทางตรงจากผู้บริโภค และทางอ้อมจากตลาดหุ้น

วันนี้(17 ม.ค.) นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการพิจารณาการคิดค่าเช่าท่อก๊าซจาก ปตท.ในวันนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการคิดอัตราค่าเช่า ซึ่ง ปตท.พร้อมยอมรับหากผลสรุปที่ออกมาสามารถชี้แจงต่อสาธารณะได้ และยืนยันว่าจะดำเนินการตามแนวทางที่มีข้อสรุป

แหล่งข่าวจากบอร์ดฯ พิจารณาค่าเช่าท่อก๊าซฯ ระบุว่า นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการให้ได้ข้อสรุปการคิดค่าเช่าท่อก๊าซ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า ซึ่งขณะนี้ยังมีความเห็นที่ต่างกันในเรื่องการคิดค่าเช่าระหว่างกระทรวงการคลังกับ ปตท.เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดูแลท่อก๊าซ

โดย รมว.คลัง มองว่า ท่อก๊าซถือเป็นทรัพย์ที่ไม่มีค่าเสื่อมที่จะต้องนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในอนาคต แต่ ปตท.อ้างว่าท่อก๊าซมีค่าเสื่อมที่จะต้องนำมาหักเป็นค่าใช้จ่าย ดังนั้น ฐานรายได้ในอนาคตอาจจะต้องปรับลดลงจาก 5,700 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ฐานรายได้ที่ 5,700 ล้านบาทดังกล่าวจะนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าเช่าในช่วง 5 ปีแรก ตั้งแต่เดือน ต.ค.44-ต.ค.49 โดยหลังจากนั้นอาจจะทบทวนฐานรายได้ใหม่ว่าต้องปรับลดลงอีกมากน้อยเพียงใด

ส่วนวันพรุ่งนี้(18 ม.ค.) คณะกรรมการฯ จะนัดประชุมอีกครั้งและคาดว่าจะมีข้อสรุปได้

"มั่นใจว่าการคิดค่าเช่าท่อก๊าซจะทำให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน แม้ขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายจะยังไม่สามารถมีข้อตกลงร่วมกันได้ แต่กรอบความคิดนั้น ยืนยันว่ามีความเห็นตรงกันแล้วที่ต้องคำนึงถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย"

ขณะที่ นายอำนวย ปรีมนวงษ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า แนวทางการคำนวณค่าเช่านั้นมี 2 แบบ คือ หากคิดจากความยาวของท่อก๊าซจะทำให้ไม่ต้องปรับอัตราค่าเช่าลดลงตามระยะเวลา แต่หากคิดจากจำนวนเงินลงทุนก็จะทยอยปรับลดลงตามระยะเวลา โดยก่อนหน้านี้ประเมินว่าตลอดระยะเวลา 30 ปีจะมีค่าเช่ามากกว่า 7.8 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะต้องมีการคำนวณรายได้ใหม่อีกครั้ง ส่วนในเรื่องรายจ่ายนั้นมีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น