ผู้บริหาร-พนักงานทีไอทีวี เปิดแถลงเรียกร้องความชัดเจน รูปแบบผัง-ปรับลดพนักงาน หลังเปลี่ยนผ่านเป็นทีวีสาธารณะแล้ว วันนี้ ชี้การตั้งกรรมการอิสระ 5 คน ต้องโปร่งใส “อัชฌา” ยืนยันความโปร่งใส รายการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ พร้อมให้ตรวจสอบการใช้งบ 30 ล.“ประกันสังคม” ปลอบพนักงาน 400 คน ยังไม่ต้องตกใจ เพราะเตรียมจ่ายชดเชยไว้ให้แล้ว
วันนี้ (14 ม.ค.) นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี พร้อมทีมบรรณาธิการข่าว แถลงเรียกร้องความชัดเจนภายหลังพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้แล้วในวันนี้ ส่งผลให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีเข้าสู่การเป็นทีวีสาธารณะแล้ว โดยคาดว่าวันพรุ่งนี้จะมีการเสนอรายชื่อคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว 5 คน ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อทำหน้าที่รับมอบการถ่ายโอนภารกิจทรัพย์สิน หนี้สินจากกรมประชาสัมพันธ์ และปรับผังรายการเดิมของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เพื่อเข้าสู่ผังรายการทีวีสาธารณะ
ทั้งนี้ พนักงานทีไอทีวียังไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการถึงขั้นตอนการเปลี่ยนผ่าน และความชัดเจนของสัญญาว่าจ้างพนักงานที่มีเงื่อนไขอยู่ 11 ข้อ ซึ่ง 1 ในนั้นมีการระบุว่าจะต้องปรับลดพนักงานลงครึ่งหนึ่ง จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลไม่ควรตั้งกรอบรูปแบบผังรายการ การจ้างผลิตรายการ และการรับพนักงาน แต่ควรให้คณะกรรมการชั่วคราว 5 คน มีความเป็นอิสระ โดยใช้ดุลพินิจพิจารณาตามความเหมาะสมในการดำเนินการ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นทีวีสาธารณะเป็นไปอย่างโปร่งใส
ส่วนรายการแผนปฏิบัติการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ที่มีกระแสข่าวระบุว่า ทีไอทีวีใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับจากกรมประชาสัมพันธ์ จำนวนกว่า 30 ล้านบาท ไม่โปร่งใสนั้น ทีไอทีวี พร้อมให้ตรวจสอบได้ทุกบัญชี ทั้งนี้ เชื่อว่า เป็นความพยายามลดความน่าเชื่อถือทีไอทีวี
สปส.พร้อมอุ้มพนักงาน 400 ชีวิต
วอนไม่ต้องตกใจ-มีมาตรการรองรับแล้ว
นายสิทธิพล รัตนากร รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีที่วันนี้ หลังมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เปลี่ยนเป็นทีวีสาธารณะอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้การกำกับดูแลของการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ซึ่งอาจส่งผลให้พนักงานกว่า 400 คน ต้องตกงานทันทีนั้น เรื่องนี้ผู้บริหารและพนักงานทีไอทีวี ยังไม่ต้องตกใจ เพราะพนักงานทุกคนยังถือว่าเป็นผู้ประกันตน ย่อมจะได้รับความคุ้มครองในกรณีว่างงานและมีสิทธิได้รับประโยชน์จากกรณีว่างงาน
ทั้งนี้ จะต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานและหลังสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือถูกเลิกจ้าง ควรรีบไปขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ เพื่อขอรับเงินทดแทนภายใน 30 วัน และหากไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานล่าช้ากว่า 30 วัน เงินทดแทนที่จะได้รับจะลดส่วนลงตามวันเวลาที่มายื่น โดยในกรณีที่ว่างงานเพราะถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง
นายสถาพร จารุภา ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กล่าวว่า ในกรณีดังกล่าวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จะยกเว้น และไม่บังคับใช้กับลูกจ้างของราชการ เนื่องจากพนักงานดังกล่าวมีสถานภาพเป็นลูกจ้างที่อยู่ในความดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ ภายใต้ระบบราชการโดยตรง เมื่อครั้งเปลี่ยนถ่าย สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เป็นทีไอทีวี จึงไม่ได้อยู่ในข่ายบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และที่ผ่านมาทางทีไอทีวีก็ไม่ได้เข้ามาแจ้งหรือขอความช่วยเหลือกับทาง กสร.แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สวัสดิการเขตพื้นที่ 2 เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดในทันที หากมีพนักงานร้องเรียน อาทิ เรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ ฯลฯ กสร.ก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วน
ปลัด สปน.ย้ำบอร์ด 5 คน ประวัติใสปิ๊ง
นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการเปลี่ยนสถานะของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี คงต้องเปลี่ยนไปตามกฎหมาย ส่วนเรื่องชื่อสถานีนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรต้องรอคณะกรรมการทั้ง 5 คน มาพิจารณาในรายละเอียด ซึ่งจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ขณะนี้ตนยังไม่ทราบว่าคณะกรรมการทั้ง 5 คน เป็นใครบ้าง
สำหรับกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า บุคคลที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการนั้น อาจโดนแทรกแซงและไม่โปร่งใสจะให้ความมั่นใจในเรื่องดังกล่าวได้อย่างไร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการเตรียมการได้พิจารณาโดยรอบคอบ มีการตรวจสอบประวัติทั้งหมดอย่างละเอียด ก่อนที่จะพิจารณาแต่งตั้ง