xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยประกัน” โชว์ผลงานปี 50 เบี้ยรับใหม่งดงาม 9.6 พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธุรกิจประกันชีวิต ปี 50 ยอดทะลุเป้า “ไทยประกันชีวิต” โชว์ผลงานเบี้ยรับใหม่เติบโตสูงถึง 9.6 พันล้านบาท ขยายตัวขึ้นกว่า 90% ตั้งเป้าปีนี้เบี้ยรับรวมพุ่งถึง 2.9 หมื่นล้านบาท พร้อมเพิ่มฝ่ายขายขึ้นอีก 2 หมื่นราย ขณะที่ “เมืองไทยประกันชีวิต” ตั้งเป้าเบี้ยรับรวมไว้ที่ 1.69 หมื่นล้านบาท จ้องปรับพอร์ตลงทุนหุ้น หากตลาดไม่เอื้อเบนเข็มลุยต่างประเทศ

นายไชย ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินงานในปี 2550 บริษัทสามารถผลิตเบี้ยประกันรับที่เกิดจากธุรกิจใหม่สูงถึง 9,600 ล้านบาท เติบโตถึง 90% ซึ่งเป็นผลจากการที่ไทยประกันชีวิตได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจอย่างชัดเจนตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยกำหนดเป้าหมายการเป็นบริษัทประกันชีวิตของคนไทยในระดับสากล เพื่อให้ธุรกิจของคนไทยอยู่รอด และพ้นจากการเป็นบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ

จนถึงวันนี้ ไทยประกันชีวิต สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นบริษัทคนไทยพันธุ์แท้ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยได้รับการจัดอันดับเครดิต A- จากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับเครดิตระดับโลก และได้รับรางวัล Asian Insurance Industry Awards รวมถึงรางวัลต่างๆ อีกมากมาย

สำหรับปี 2551 ไทยประกันชีวิตได้ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันรับรวม 29,000 ล้านบาท ตั้งเป้าการสร้างบุคลากรฝ่ายขายใหม่ไม่น้อยกว่า 20,000 คน เพื่อให้การดำเนินงานรุดหน้า รวมถึงสามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นได้ ในกระแสแห่งโลกาภิวัตน์ การเปิดเสรีทางการเงิน การออกกฎหมายใหม่ การพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี ได้เปลี่ยนแปลงให้โลกไม่พรมแดน กลายเป็นโลกที่แบนราบมากขึ้น

ดังนั้น นับจากวันนี้ต่อไปไทยประกันชีวิตได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือ Paradigm Shift ในการทำงานข้างหน้า โดยเปลี่ยนฐานความคิดจากการเป็นบริษัทประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว มาเป็น “ไทยประกันชีวิต เป็นมากกว่าการประกันชีวิต” ซึ่งถือเป็นความแตกต่างจากบริษัทประกันชีวิตแห่งอื่นโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืนและเด็ดขาด

การเป็นมากกว่าการประกันชีวิต คือ ตอบสนองความต้องการของลูกค้า มองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) มากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างบริษัท และลูกค้า และเกิดความจงรักภักดีต่อแบรนด์ หรือ Brand Loyalty ในที่สุด โดยกำหนดยุทธศาสตร์ผ่านแนวความคิดในเรื่องการสร้างแบรนด์ การบริการ การพัฒนาบุคลากรของบริษัท ผลิตภัณฑ์ รวมถึงสังคม โดยยึดความผูกพันด้านคุณประโยชน์ (Functional Bonding) มาสร้างความแตกต่างให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าและสามารถจับต้องได้

“ทิศทางจากวันนี้ไปสู่อนาคต เราจะไม่มองตัวเราเองเป็นแค่บริษัทประกันชีวิตอีกต่อไป แต่เราจะดูแลผู้เอาประกันทุกช่วงของชีวิตทั้งยามปกติและยามฉุกเฉิน รวมถึงเพิ่มคุณค่าของชีวิต เติมเต็มแต่สิ่งดีๆ ให้กับชีวิต รวมถึงสิทธิพิเศษต่างๆ ให้กับผู้เอาประกันของเรา” นายไชย กล่าว

เมืองไทยเล็งโยกเงินลุย ตปท.
นางภคินีนาถ ติยะชาติ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้ บริษัทได้เตรียมเม็ดเงินในการลงทุนไว้ทั้งสิ้นประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท โดยยังให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ประเภทพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลักประมาณ 80% ที่เหลือลงทุนในตลาดหุ้น 10% ที่เหลือลงทุนอื่นๆ เช่น การปล่อยกู้ ซึ่งเป้าหมายผลตอบแทนจากการลงทุนในปีนี้ตั้งไว้ขั้นต่ำอยู่ที่ 5.58%

ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นนั้นก็จะพิจารณาจากภาวะตลาด และโอกาสเป็นหลัก หากภาวะไม่เอื้อก็จะพิจารณาการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการลงทุนโดยตรง หรือ ผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือ FIF นอกจากนี้ ยังพิจารณาการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ แต่คงไม่เน้นในลักษณะหวือหวา

ทั้งนี้ การลงทุนในหุ้นนั้นจะเน้นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ ปัจจัยพื้นฐานดี มีกำไรต่อเนื่อง มีการจ่ายเงินปันผลที่แน่นอน ซึ่งบริษัทคาดหวังในเรื่องของเงินปันผล 3-4% และหวังส่วนต่างจากการลงทุน 6-7% เท่านั้น โดยในปีนี้ตั้งเป้ากำไรจากการลงทุนในหุ้นแค่ 200 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามีกำไร 500 ล้านบาท เพราะการลงทุนในหุ้นจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากสินทรัพย์ที่บริษัทเข้าไปลงทุนนั้นขาดทุนไม่ได้

“เราพยายามดูแลการลงทุนให้มีกำไรอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.ได้ออกกฎเข้ามาดูแลการลงทุนด้วย ซึ่งต้องระมัดระวังมากขึ้น ในปีนี้เราจึงตั้งเป้ากำไรเอาไว้ 1,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 20.80% ผลอตอบแทนจากการลงทุน 5.58%”

ในด้านของเบี้ยประกันรับรวม ตั้งเอาไว้ที่ 16,914 ล้านบาท เพิ่ม22.44% สินทรัพย์รวม 57,365 ล้านบาท เพิ่ม 20.50% สินทรัพย์ลงทุน 53,326 ล้านบาท เงินสำรองประกันภัย 47,604 ล้านบาท ในขณะที่สัดส่วนสินทรัพย์ลงทุนต่อเงินสำรองประกันภัย ตั้งไว้ที่ 112.02% สัดส่วนเงินกองทุนต่อเงินสำรองประกันภัยตามเกณฑ์ของ คปภ.สูงถึง 8 เท่า และสัดส่วนเงินกองทุนต่อเงินสำรองประกันภัยสูงกว่ามาตรฐานยูโร 2.45 เท่า
กำลังโหลดความคิดเห็น