ค่าเงินบาทยังทำสถิติแข็งค่าต่อเนื่อง โดยเช้าวันนี้ แตะระดับ 33.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นักค้าเงินธนาคารพาณิชย์ คาด ส่งออกเทขายหนัก พร้อมระบุ แบงก์ชาติเข้าแทรกแซงตลาดตั้งแต่วานนี้แล้ว ขณะที่ ไทยธนาคาร ชี้บาทแข็งตามเงินหยวน หลังตลาดเงินโลกคาดเฟด หั่นดอกเบี้ยอีกรอบปลาย ม.ค.นี้
ภาวะตลาดเงินในประเทศ วันนี้ (9 ม.ค.) นับตั้งแต่เปิดตลาดประมาณ 09.10 น.ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 33.21 บาท-ระดับ 33.27 บาท เทียบกับเมื่อวานนี้ ปิดตลาดที่ 33.27 บาท-ระดับ 33.30 บาท นักค้าเงินธนาคารพาณิชย์ ระบุว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้ เกิดจากนักลงทุนและผู้ส่งออกยังเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐ ออกมาเป็นจำนวนมาก และเมื่อสักครู่ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 33.23 บาท-ระดับ 33.24 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
นักค้าเงินยังคาดอีกว่า ค่าเงินบาทวันนี้น่าจะมีแนวต้านอยู่ที่ 33.20 บาท ขณะที่แนวรับอยู่ที่ 33.30 บาท อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เมื่อวานนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินไม่ให้แข็งค่าไปมากบ้างแล้ว เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ส่งออกมากเกินไป
นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักวิจัยสายบริหารความเสี่ยง ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาวะการแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้ ว่า มีสาเหตุมาจากเงินหยวนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจีนต้องการลดการเกินดุลการค้า และส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงภายในประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ หดตัวลงอย่างมาก สังเกตจากอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2550 ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5 ขณะที่การจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นเพียง 1.8 หมื่นราย จากเดิมที่เคยเพิ่มขึ้นถึงกว่าแสนราย
นอกจากนี้ คาดการณ์ว่า การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในช่วงสิ้นเดือน ม.ค.นี้ เชื่อว่าเฟดจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.25 และเชื่อว่า ธปท.จะปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าตามกลไกตลาด เพื่อลดผลกระทบจากเงินเฟ้อ ซึ่งคาดว่า ทั้งปี 2551 เงินบาทอาจแข็งค่าทะลุระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
นายคชาภูมิ ศิริชนะชัย นายกสมาคมผู้ค้าไทยระหว่างประเทศ กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากซ้ำเติมให้ผู้ส่งออกขนาดกลาง และขนาดเล็ก ต้องประสบปัญหามากขึ้น เนื่องจากแข่งขันด้านราคาไม่ได้ และอาจจะต้องชะลอการส่งออกไป หากค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องอีก สำหรับปัญหาที่ส่งออกขนาดเล็กกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือ เรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ปัญหาขาดแคลนเรือขนส่ง และค่าระวางเรือ