คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
“เสียดายนะ โปรเทพแกตีกอล์ฟไม่ได้แล้ว” “อ้าว แกเป็นอะไรอ่ะเก่ง?” พี่หมอประหลาดใจ เพราะเมื่อเดือนที่แล้วพี่เทพยังขึ้นรับถ้วยโฮอินวันอยู่เลย “แกเป็นอัมพฤกษ์น่ะพี่หมอ ตอนนี้หมดสภาพเลย... ดีนะเรียกสายด่วน 1669 มานับไปส่งโรงพยาบาลได้ทัน นาทีทอง 4 ชั่วโมงครึ่งใช่ไหมพี่หมอ” “เออ เก่งนี่” “ไม่ได้หรอกพี่ ผมต้องดูแลเฮีย แกมีความเสี่ยงความดันสูงอยู่ แต่ที่สำคัญ ...(เจ้าเก่งป้องปากกระซิบ)... แกเป็นตัวเงินตัวทองของพวกเรานะพี่” “พี่หมอสะดุ้ง! หยุดคิดชั่วครู่ แล้วก้มหน้าพูด “เออ...จริง!”
โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่คนไทยป่วยมากที่สุดในปี 66 นี้ สธ.เผยปีนี้พบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกว่า 3.49 แสนราย ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิต และความพิการที่สำคัญทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั่วโลกพบว่า 1 ใน 4 ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไปเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และร้อยละ 90 ของโรคนี้สามารถป้องกันได้สำหรับประเทศไทยพบถึง 349,126 ราย เสียชีวิต 36,214 ราย เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี
“ป้องกันไว้ดีกว่าแก้” กรมควบคุมโรค แนะนำว่าการรักษาที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้โรคเกิดขึ้น ดังนั้น การเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด ทำโดยการควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาล และระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม มีกิจกรรมทางกาย หรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดดื่มสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ งดการใช้สารเสพติดทุกชนิด หลีกเลี่ยงความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดแตก หรืออุดตัน ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองจึงหยุดชะงัก
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่แตกต่างกัน
สำหรับหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน เป้าหมายของการรักษาคือทำให้เลือดกลับมาไหลเวียนได้อย่างปกติ โดยทางเลือดในการรักษามีหลายวิธี ในบางกรณีแพทย์อาจให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งพบว่าจะได้ผลดีกับผู้ป่วยที่มีอาการและอาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมอง และรีบมาโรงพยาบาลภายในระยะเวลาไม่เกิน 45 ชั่วโมง
สำหรับหลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด เป้าหมายของการรักษาคือการควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิต ในกรณีที่เลือดออกมาก แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัด เพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมองที่อาจเกิดขึ้น หากมีการเปลี่ยนแปลงความดันของโลหิต