คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
คุณชูสง่าอารมณ์ดีขึ้นเป็นปกติ หลังจากได้คืนโทรศัพท์ที่เจ้าเก่งอุตสาห์ขับรถ 20 กิโลกลับบ้านไปเอามาให้ “พี่หมอๆ รู้ไหมตอนนี้เฮียอารมณ์ดี แต่ตอนกลับถึงบ้านไม่รู้จะเป็นยังไงเดาไม่ถูกเลย!” “อ้าว!ทำไมล่ะ” พี่หมอฉงน “ก็ตอนผมไปเอาโทรศัพท์ ซ้อสุวรรณากำลังเปิดอ่านอยู่ในมือเลย” “แล้วไง?เฮียแกคงไม่มีความลับอะไรเหมือนมึงหรอก” “ไม่แน่....ผมอยู่กับแก..ผมรู้” “เออ!เหมือนกันหมดทั้งนายทั้งบ่าว เป็นโรคเดียวกัน “โนโมโฟเบีย”” “ชื่อแปลกโรคนี้ต้องไปหาหมอไหมครับ ผมสายตาแย่ลงเยอะเลยนะตอนนี้” อาการนี้ไม่ถึงกับต้องไปรักษากับหมอ แต่ต้องช่วยตัวเองโดยการปรับพฤติกรรมการใช้มือถือ ตามแนวทางของอาจารย์หมอพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ท่านแนะนำไว้
คนที่มีอาการเข้าข่ายโนโมโฟเบีย จะเสียทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพสมอง เนื่องจากสมองจะต้องใช้ความเข้มข้นสูงในการจดจ่อจ้องรับข่าวสาร หรือข้อมูลตลอดเวลา ดังนั้นเราควรจัดให้ชีวิตในแต่ละวันมีช่วงเวลาที่ปลอดมือถือเพื่อพักสมองบ้าง เช่นจัดช่วงเวลาไม่ใช้โทรศัพท์เวลารับประทานอาหาร เวลาทำงาน ถ้าเราสามารถปรับตัวได้ก็จะพบว่าเราสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องมีมันตลอดเวลา อาจจะเริ่มจากกำหนดเวลา 30 นาทีก่อน แล้ค่อยขยายไป 1 ชั่วโมง จากนั้นก็เพิ่มไปอีกเรื่อยๆ โดยเฉพาะในห้องนอน ถ้าจะกำหนดให้เป็นเขตปลอดมือถือเลยยิ่งดี
นอกจากนี้ ยังมีผลเสียต่อสุขภาพกายที่น่ากลัวคือ ผลต่อสายตานั่นเอง ยิ่งถ้าเราไปอยู่ในที่แสงไม่พอ และโทรศัพท์เปิดแสงจ้าเกินไป ก็จะมีปัญหากับสายตามากขึ้น นอกจากนั้นเวลาใช้โทรศัพท์นานๆจะมีอาการเกร็งโยไม่รู้ตัว เกิดอาการปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ แขน และมือ และถ้าเล่นนานๆก็จะมีอาการปวดศีรษะตามมา และมีผลในเรื่องสมาธิสั้น และไม่มีสมาธิในการทำงาน โดยเฉพาะเกิดกับเด็กที่อยู่ในวัยที่กำลังพัฒนาสมาธิ ส่งผลให้สมาธิสั้น หลายคนกลายเป็นเด็กอารมณ์ร้อนรุนแรง และขี้หงุดหงิดมากขึ้น
สรุปว่า อาการโนโมโฟเบียนั้นไม่ได้เป็นโรคร้านแรงถึงขนาดต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา แต่เราต้องปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันของเรา เช่น หากิจกรรมอื่นๆทำให้ห่างจากการติดเกม ดูหนัง ฟังเพลงในโทรศัพท์มือถือ ออกไปเดินเล่น หรือออกกำลังกายในสวนสาธารณะ นั่งพูดคุยกับเพื่อนแบบเห็นหน้ากัน หรือชวนกันไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ ก็จะสามารถลดความกระวนกระวายใจ หงุดหงิด หรือเศร้าซึมได้ ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยตนเอง
เมื่ออยู่ในยุคที่เทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งหรือมาครอบงำการใช้ชีวิตประจำวันของเราไปเสียแล้ว และยังมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากการเพิ่มศักยภาพของการส่งสัญญาณทั้งภาครับและภาคส่ง ทำให้อุปกรณ์ในมือถือถูกพัฒนาตัวมันเองขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ในทุกๆด้าน แต่ตัวเราเองต้องมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ยอมตกเป็นทาสของมันตลอดเวลา การรักษากฏเกณฑ์มีช่วงเวลาที่ปลอดจากมือถือบ้างจึงจะเรียกว่าเป็นผู้ที่รู้ทันและใช้ประโยชน์มันได้อย่างเต็มที่และคุ้มค่า