กรมการแพทย์ ชี้ "โรคหลอดเลือดสมอง" ยังเป็นสาเหตุตายอันดับ 1 ก่อเกิดความพิการ เผยอาการเตือนที่ต้องรีบไป รพ.ภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง รพ.ประสาทเชียงใหม่พัฒนารูปแบบการรักษาวิธีสอดสายสวนฯ กรณีผ่าตัดไม่ได้ หรือมีความเสี่ยง
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วันที่ 29 ต.ค.ของทุกปีเป็นวันรณรงค์อัมพาตโลก (World Stroke Day) เพื่อรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทยและทั่วโลก โดยในประเทศไทยโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 1 ทั้งเพศชายและเพศหญิง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและความพิการ ปัจจุบันมีเครือข่ายโรคหลอดเลือดสมองครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและความพิการลงได้ กรมการแพทย์มีหน่วยงานในสังกัดที่ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ สถาบันประสาทวิทยา เป็นต้นแบบมาตรฐานทางวิชาการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงและ รพ.ประสาทเชียงใหม่ ที่ดูแลผู้ป่วยในเขตภาคเหนือ มีทีมแพทย์และบุคลากรที่เชี่ยวชาญพร้อมเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้เร็วขึ้น
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า อาการเตือนสำคัญที่สังเกตได้ด้วยตนเอง คือ ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า ตามัวเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก อาการแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง อ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก และต้องรีบไป รพ.ให้เร็วที่สุด หากไป รพ.เร็วภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง มีโอกาสได้รับยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ อาการเหล่านี้มักเกิดอย่างเฉียบพลัน สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องสังเกตอาการข้างต้นและรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด จะช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการ โดยสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้ด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย ภาวะน้ำหนักเกิน แต่สิ่งที่จะทำให้รักษาได้ผลดีที่สุด ผู้ป่วยอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติมากที่สุด คือการไปถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเมื่อเกิดอาการ หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพราะโรคหลอดเลือดสมอง ทุกนาทีคือชีวิต รู้เร็วรอด ปลอดอัมพาต
พญ.ศศิธร ศิริมหาราช ผอ.รพ.ประสาทเชียงใหม่ กล่าวว่า รพ.ประสาทเชียงใหม่พัฒนารูปแบบการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างต่อเนื่อง โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้รักษาผู้ป่วย อาทิ การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันด้วยวิธี Mechanical Thrombectomy เป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเปิดให้บริการศูนย์รังสีร่วมรักษาทางระบบประสาท (Neurointervention Center) โดยให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยทางระบบประสาท ด้วยวิธีการสอดสายสวนหลอดเลือดด้วยเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดชนิด 2 ระนาบ โดยเฉพาะกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัด หรือ การผ่าตัดมีความเสี่ยง ทำให้แผลที่เกิดจากการรักษา มีขนาดเล็ก ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อย ภาวะแทรกซ้อนต่ำ ผู้ป่วยเสียเลือดและปวดแผลน้อย สามารถรักษาและกลับบ้านภายในวันเดียว ยกระดับบคุณภาพชีวิตของประชาชน