ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประเทศไทย เปิดตัวคู่มือการจัดกิจกรรม “Walkshop เดินไปคุยไป” ภายในงาน PA FORUM งานเสวนาวิชาการและนโยบายด้านกิจกรรมทางกาย (EP1) – การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม Active Environment for All
คุณนิรมล ราศรี รักษาการผู้อำนวยการ สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. (สำนัก 5) กล่าวว่า กิจกรรม Walkshop เดินไปคุยไป กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งคู่มือตัวนี้จะเป็นชุดเครื่องมือสำหรับหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ให้ได้นำกิจกรรมนี้มาช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประกอบด้วย คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการจัดการประชุมให้มีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วมมากขึ้น เคล็ดลับการสร้างกิจกรรมทางกายสำหรับการประชุม เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดี ตลอดจนเครื่องมือต่าง ๆ ที่แต่ละองค์กรสามารถดาวน์โหลดนำไปใช้เพื่อปรับปรุงการประชุมของตนเองได้
รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กิจกรรม “Walkshop เดินไปคุยไป” เป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการจัดการประชุมอย่างมีสุขภาพ หรือ Healthy Active Meeting โดยใช้การ “เดินประชุม” เข้ามาประยุกต์ให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้เดินพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลแทนการนั่งในห้องทำงานนาน ๆ แบบเดิม เพื่อก่อให้เกิดการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์หรือไอเดียใหม่ ๆ ระหว่างการเดินพูดคุย พร้อมยังช่วยผ่อนคลายความเครียดและส่งเสริมสุขภาพร่างกาย จากการได้ขยับและบริหารร่างกาย ตลอดจนลดพฤติกรรมเนือยนิ่งหลังจากการประชุมเป็นเวลานาน อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรค NCDs ด้วยเช่นกัน
รศ.นายแพทย์เพชร รอดอารีย รองประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง กล่าวิกฤตทางสุขภาพของวัยทำงาน ที่อาจจะเสี่ยงเป็นโรคอ้วน และโรคเบาหวาน เนื่องจากพฤติกรรมการกินและความเครียด โดยการเดินจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และช่วยลดความเสี่ยง ทางสุขภาะ โดยเฉพาะวัยทำงาน ทำให้ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย เราได้มีแผนการส่งเสริม Healthy Organization ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นในประชาชนชาวไทย โดยกิจกรรม WalkShop เป็นหนึ่งในกิจกรรมตัวอย่างสำหรับหน่วยงานที่จัดประชุมเป็นประจำทั้งภาครัฐและเอกชน ให้สามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดการประชุมอย่างมีสุขภาพต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรม “WalkShop” ตัวอย่าง ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมทำกิจกรรมเดินประชุมบน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางสวนเบญจกิติ สวนสาธารณะในเมืองที่ทำคุณประโยชน์หลากหลายมิติ 2.เส้นทางสวนป่า Sky Walk เดินลัดเลาะชมธรรมชาติพันธุ์ไม้จากพืชท้องถิ่นเดิมในบริเวณกรุงเทพฯ กว่า 300 ชนิด และ 3.เส้นทางสะพานเขียว Sky Walk เชื่อมโยงผู้คนและย่านเมือง ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่าง สวนเบญจกิติกับสวนลุมพินี
สำหรับ คู่มือและเครื่องมือส่งเสริมการจัด “Walkshop เดินไปคุยไป” และ Healthy Meeting สามารถใช้ได้ฟรีที่ https://tpak.or.th/backend/print_media_file/739/คู่มือการจัดกิจกรรม%20WalkShop.pdf