xs
xsm
sm
md
lg

โครงการ Herbal Appreciation สร้างพื้นที่การเรียนรู้ในสวนสาธารณะ เป็นแหล่งเรียนรู้พืชสมุนไพรที่มีคุณค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภญ.เบญญากาญจน์ พงศ์กิจวิทูร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ปัจจุบันการปลูกต้นไม้ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้คนหันมาให้ความสนใจกับการปลูกต้นไม้ เกิดเทรนด์การปลูกต้นไม้ ปลูกผักกินเอง รวมถึงสมุนไพรสามารถนำมาใช้รักษาโรคต่าง ๆ ได้ จึงเป็นที่มาของโครงการ Herbal Appreciation โดยภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จัดให้มีกิจกรรมสำรวจและเรียนรู้คุณประโยชน์ของสมุนไพรใกล้ตัว “Herbal Walk” เป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ในห้องเรียนกลางแจ้ง คือ สวนสาธารณะ นั่นเอง

กรุงเทพมหานครมีสวนสาธารณะหลายแห่ง อีกทั้ง ยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีความหลากหลายของพรรณไม้ที่จัดแสดงไว้อย่างสวยงาม นอกจากเป็นสถานที่ที่ประชาชนนิยมไปออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจแล้ว พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงสันทนาการเกี่ยวกับสมุนไพรของประชาชนที่สนใจได้อย่างเป็นอย่างดี ประกอบกับสวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร มีพรรณไม้ที่หลากหลายและมีพืชสมุนไพรหลายชนิด คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีแนวคิดว่าในการให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับพฤกษศาสตร์ โดยประชาสัมพันธ์ผ่านเพจเฟสบุ๊ค Herbal Appreciation ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมากและเสียงตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม ด้วยวิธีการสอดแทรกเกร็ดความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับสมุนไพรและประโยชน์ของสมุนไพร

สวนสาธารณะที่ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเรียนรู้ ได้แก่ สวนวชิรเบญจทัศ และสวนเบญจกิติ กรุงเทพมหานคร เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่ง ที่มีความแตกต่าง คือ สวนวชิรเบญจทัศจะมีไม้ยืนต้น รวมถึงโซนปลูกผักสวนครัวให้ได้เรียนรู้ ในขณะที่สวนเบญจกิติจะมีพรรณไม้ที่ผ่านการออกแบบมาแล้ว หรือเรียกว่าการออกแบบระบบนิเวศ เพื่อให้ต้นไม้พึ่งพากันเอง โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ความเข้าใจมากขึ้น อาทิ ต้นแค สามารถนำดอกแคมาทำเป็นอาหาร ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักต้นไม้ชนิดนี้ แต่เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมทำให้รู้ว่าพืชผักชนิดใดที่สามารถนำมากินได้ สมุนไพรที่พบได้ทั่วไปมีตั้งแต่ไม้ล้มลุก ได้แก่ กะเพรา โหระพา แมงลัก สะระแหน่ เป็นต้น นิยมนำมาปลูกประดับ และยังเป็นผักสวนครัวปลูกกินเองที่บ้านได้อีกด้วย ประเภทไม้พุ่ม ได้แก่ ต้นแก้ว ในอดีตมีคนนำรากไปต้มกินเป็นยา ปัจจุบันนิยมใช้เป็นไม้ประดับ และมีประโยชน์กับพืชบางชนิดอย่างต้นนทรีสามารถดึงไนโตรเจนได้ ให้ประโยชน์กับดินได้อีกทางด้วย นอกจากนี้ มีกิจกรรมพาเดินสวนสมุนไพร กิจกรรมทับดอกไม้ หรือ Herbarium ซึ่งเป็นวิธีรักษาดอกไม้แห้งให้คงอยู่ ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้ด้านพฤกษศาสตร์และงานศิลปะอีกด้วย

กิจกรรม “Herbal Walk” เป็นการส่งเสริมทัศนคติทีดีต่อพืชทั้งที่เป็นไม้ประดับ จรรโลงใจผู้คนเมื่อได้อยู่กับต้นไม้ ได้รับความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ มีความสนุกเพลิดเพลินกับการดูต้นไม้มากขึ้น ได้รับความรู้ในการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องและเหมาะสม ภายในสวนสาธารณะนั้น มิได้มีแค่สมุนไพร แต่ยังมีพืชชนิดอื่นที่เป็นพิษอยู่ด้วย เช่น ต้นรัก หรือ ลั่นทม จะมียางขาว ๆ หากไปจับหรือไปโดนยางอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้ หรือแม้กระทั่งบางคนที่นิยมรับประทานสมุนไพรตามกระแส เพราะคิดว่าเป็นทางลัดในการรักษาสุขภาพ โดยไม่ได้ทำการศึกษางานวิจัยหรือได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง หากได้เรียนรู้และศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญจะทำรู้ว่าสมุนไพรบางชนิดอาจส่งผลต่อตับและไตได้

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่สวนสาธารณะครั้งนี้ ทำให้เกิดสังคมเล็ก ๆ คนที่รักพืชสมุนไพร ทั้งนี้ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความพร้อมที่จะเผยแพร่ความรู้ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความสนใจ นอกจากนี้ ได้เปิดรายวิชาออนไลน์เกี่ยวกับสมุนไพรในชีวิตประจำวัน ของมหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านเว็บไซต์ https://mux.mahidol.ac.th/ โดยบุคคลคนทั่วไปสามารถลงทะเบียนเรียนได้ฟรี หากเรียนได้ครบ ทำแบบทดสอบผ่านจะได้รับประกาศนียบัตรอีกด้วย

ประเทศไทยเป็นเมืองร้อนสามารถปลูกพืชได้ดี และมีความหลากหลายทั้งผักและผลไม้ หากปลูกต้นไม้หลายๆ อย่าง เช่น ต้นแค กระเฉด กะเพรา ไว้ในบ้าน แล้วทำอาหารให้หลากหลาย จะทำให้ได้รับประโยชน์จากสารอาหารโดยไม่ได้หวังพึ่งว่าเป็นยามารักษา ทางที่ดีควรเน้นเรื่องสุขภาพดีแบบยั่งยืน “กินอาหารเป็นยา แทนที่จะกินยาเป็นอาหาร”








กำลังโหลดความคิดเห็น