xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัยลงนาม MOU ร่วมกับเครือข่าย ลุยงานเวชศาสตร์วิถีชีวิต สร้าง Lifestyle Medicine ให้คนไทยสุขภาพดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จับมือภาคีเครือข่าย และสมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิตไทย ลงนาม MOU ร่วมขับเคลื่อนสร้างคนไทยสุขภาพดี ตามแนวทาง Lifestyle Medicine ในการประชุมวิชาการระดับชาติด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต และการดูแลสุขภาวะแบบองค์รวม ครั้งที่ 1 (1st Lifestyle Medicine and Holistic-Integrative Wellness Care 2023) 

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. นายแพทย์ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อเพิ่มพูนทักษะแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์วิถีชีวิต ระหว่างกรมอนามัย กับสถาบันร่วมฝึกอบรม และพิธีลงนามความร่วมมือด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตและการดูแลสุขภาวะแบบองค์รวม ระหว่างกรมอนามัย กับสมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิตไทย พร้อมมอบโล่แก่ผู้นำด้าน Lifestyle Medicine and Holistic-Integrative Wellness Care 2023 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 400 คน ว่า

จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในประเทศ ทำให้เสี่ยงเจ็บป่วยหลายโรค หนึ่งในนั้นคือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงรูปแบบใหม่ เช่น การติดสื่อสังคมออนไลน์ โดยโรคเหล่านี้ไม่สามารถรักษาโดยใช้ยาได้ แต่จะต้องอาศัยหลายๆ ปัจจัยในการปรับปรุงแก้ไข ทั้งจากคนในครอบครัว และชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ 

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงเริ่มนำแนวทางการสร้างสุขภาพด้วยเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) พร้อมเดินหน้าวางแนวทางการจัดการสุขภาพตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี 6 แนวทาง คือ 1) การกิน เน้นกินในปริมาณที่เหมาะสม สะอาด ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และกินอย่างมีความสุข 2) มีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม ด้วยการสร้างความยืดหยุ่น และความแข็งแรงให้โครงสร้างทางร่างกาย 3) การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ เพราะกว่า 1 ใน 3 ของชีวิต คือการนอน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ละเลย และไม่ให้ความสำคัญ 4) การควบคุมความเครียด และจัดการด้านอารมณ์ มีสติรับมือกับความเครียด และความวิตกกังวลที่อาจเกิดขึ้น 5) หลีกเลี่ยงสารหรือวัตถุที่เป็นอันตราย ทั้งการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ซึ่งเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและการเข้าสังคม จึงควรเลือกเดินสายกลาง ดื่มแต่พอประมาณ และ 6) การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือการเชื่อมโยงกับสังคม

“ทั้งนี้ Lifestyle Medicine ที่สอดรับกับเทรนด์ของโลก ไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพดีเพียงอย่างเดียว แต่หมายความถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีอายุยืนยาวอีกด้วย หรือที่เรียกว่า สุขภาวะที่ดี (Well-being) คือ ทำอย่างไรให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยทุกคนสามารถออกแบบกิจกรรมทางกาย การกินอาหาร การนอนหลับ การจัดการทางอารมณ์ หรือสุขภาพจิต หรือการใช้ประสาทสัมผัส ตลอดจนการไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนให้มีความแม่นยำ

ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตเฉพาะบุคคล (Personal Life) และที่สำคัญ Lifestyle Medicine สามารถปรับใช้ได้กับ
ผู้คนทุกระดับ โดยให้เข้ากับบริบททางสังคมด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่กรมอนามัยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนให้ทุกคนมีโอกาสที่ได้รับการดูแลแบบ Lifestyle Medicine อย่างครอบคลุมและทั่วถึง สร้าง Well-being ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น