กรมอนามัย แนะ 6 เทคนิค Lifestyle Medicine หรือเวชศาสตร์วิถีชีวิต สำหรับวัยเกษียณ เน้นกินอาหารถูกหลัก กิจกรรมทางกายเหมาะสม นอนหลับมีคุณภาพ ควบคุมความเครียด จัดการด้านอารมณ์ เลี่ยงสารอันตราย มีปฏิสัมพันธ์กับสังคม ช่วยสร้างสุขภาพที่ดีและมีความสุข
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ คาดว่าจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดในปี 2574 ข้อมูลจากกรมการปกครอง พบว่า ผู้สูงอายุมีจำนวน 12.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.4 จากประชากรทั้งหมด และมีผู้ทำงานในส่วนงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่กำลังจะเกษียณอายุในวันที่ 30 ก.ย.นี้ เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้เกษียณถือว่ากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย มีเวลาว่างมากขึ้น อาจมีความรู้สึกเหงา อ้างว้าง กลัว โดดเดี่ยว การเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมงานน้อยลง อาจทำให้รู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง ซึมเศร้า หรือใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ประกอบกับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลง อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพและจิตใจได้
กรมอนามัยจึงขอแนะนำให้ผู้ที่จะเกษียณอายุและผู้สูงอายุ สร้างแรงบันดาลใจในการจัดการสุขภาพตนเองตามแนวทาง Lifestyle Medicine หรือเวชศาสตร์วิถีชีวิต ภายใต้ 6 องค์ประกอบ คือ 1.การกิน เน้นข้าวกล้องและปลาเป็นหลัก กินตับ กินผัก ผลไม้เป็นประจำ ลด หวาน มัน เค็ม ให้เป็นนิสัย ไม่ลืมดื่มน้ำ ดื่มนมให้เพียงพอ กินอาหารสดใหม่สะอาด ปลอดภัย และกินอย่างมีความสุข 2.มีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมในความเหนื่อยระดับปานกลางสะสมให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือเฉลี่ยอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ควบคู่ยืดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ การเคลื่อนไหวรูปแบบต่างๆ การทรงตัวเพื่อป้องกันการหกล้ม 3.นอนหลับ ทำให้ร่างกายได้พักผ่อน ซ่อมแซม วัยผู้สูงอายุมีผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โรคประจำตัว การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือโรคของการนอนหลับเป็นปัจจัยก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพโรคประจำตัว ภาวะภูมิต้านทานต่ำ เพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
4.การควบคุมความเครียดและจัดการด้านอารมณ์ เราต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น อาจทำให้เกิดสภาวะเครียดและวิตกกังวล สิ่งที่ต้องทำให้ได้ คือ มีสติรับมือกับความเครียด และความวิตกกังวลที่อาจเกิดขึ้น 5.หลีกเลี่ยงสารหรือวัตถุที่เป็นอันตราย เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หากหลีกเลี่ยงได้จะดีที่สุด และ 6.การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือเชื่อมโยงกับสังคม เป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากบางคน ไม่มีทักษะการเรียนรู้ในสังคม แต่บางคนมีการปรับตัวได้ดี โดยสามารถทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า ด้วยการเป็นจิตอาสาในองค์กรต่าง ๆ เป็นต้น การปฏิบัติตนตามแนวทาง Lifestyle Medicine หรือเวชศาสตร์วิถีชีวิต จะส่งผลให้ผู้สูงอายุสุขภาพดี และมีความสุข สร้างสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพต่อไป