คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
“อากาศก็ไม่ร้อนยังกินน้ำแข็งอีกหรอ...เก่ง?” พี่หมออดห่วงใยสุขภาพของเพื่อนร่วมก๊วนไม่ได้
“ก็มันเคยน่ะครับพี่หมอ...เก่งชอบเย็นๆ มันชื่นใจดี...กินน้ำแข็งหลอดมันน่าจะปลอดภัยนะครับ”
“แน่ใจเหรอเก่ง สถาบันอาหารฯ เขาเคยสำรวจแล้วหลายยี่ห้อมีเชื้ออีโคไลปนเปื้อน...ระวังเลือกยี่ห้อที่สะอาดไว้ใจได้หน่อยก็แล้วกัน”
มนุษย์เริ่มกินน้ำแข็งกันมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 1,000 กว่าปีก่อน และนำมาใช้ยืดอายุการเก็บอาหารให้นานกว่าเดิม น้ำแข็งเข้ามาในประเทศไทยประมาณสมัยรัชกาลที่4 โดยผ่านมาทางประเทศสิงคโปร์ หลังจากนั้นก็ได้รับความนิยมแพร่หลาย และมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับอาหารแต่ละชนิด ทั้งแบบเป็นกั๊กเอาไว้แช่อาหาร แบบบด แบบหลอดเล็ก หลอดใหญ่ และแบบเกล็ด สำหรับใส่เครื่องดื่ม ทั้งหมดนี้หากผ่านกระบวนการผลิตที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ คนกินก็จะปลอดภัย แต่ถ้าผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่สะอาด น้ำแข็งที่เรากินนั้นอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ได้ เช่น เชื้ออีโคไล ที่เป็นจุลินทรีย์ที่พบในลำไส้ของคน จึงตรวจพบได้ในอุจจาระ
เชื้ออีโคไล เป็นจุลินทรีย์ที่บ่งบอกถึงสุขลักษณะในการผลิตว่าสะอาดหรือมีสิ่งปฏิกูลปนเปื้อนหรือไม่ นอกจากนี้ยังอาจพบเชื้อก่อโรคสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ปนเปื้อนด้วย
เชื้อชนิดนี้ บางสายพันธุ์จะผลิตสารพิษที่เรียกว่า เอนเทอโรทอกซิน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน เป็นตะคริวในช่องท้อง อ่อนเพลีย อาจมีอาการอื่นแทรกซ้อน ฉะนั้นไม่ควรตรวจพบเชื้อก่อโรคทั้งสองชนิดปนเปื้อนในน้ำแข็งเลย
ดังนั้น ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำแข็งหลอดเล็ก 5 ตัวอย่างจากย่านการค้าต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อก่อโรคปนเปื้อน 4 ชนิด ได้แก่ อีโคไล ซาลโมเนลล่า วิบริโอ คลอเรลลา และสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส
ผลปรากฏว่า พบเชื้ออีโคไลปนเปื้อนในน้ำแข็ง 4 ตัวอย่าง และพบเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียสในน้ำแข็ง 1 ตัวอย่าง
ดังนั้นถ้าชอบกินน้ำแข็ง ก็ควรเลือกซื้อจากร้านค้าที่สะอาดไว้ใจได้เพื่อความสบายทั้งใจและกายนะครับ.