xs
xsm
sm
md
lg

George Floyd กับ ตำรวจเหยียดผิว เคยทำงานที่เดียวกัน !!! / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

จากเหตุการณ์ที่ จ๊อร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวดำ ถูก เดเหร็ค โชวิน (Derek Chauvin) ตำรวจผิวขาว ใช้เข่ากดคอในขณะควบคุมตัวเป็นเวลานานมากจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา แม้ว่าตำรวจจะโดนไล่ออกและถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายไปแล้วนั้น แต่โทษจะหนักหรือเบาอย่างไร มันมีข้อสังเกตที่อาจมีผลต่อคดีที่เกิดขึ้น

มายา ซานตามารีอา (Maya Santamaria) สาวเจ้าของ เอ็ล นูเอโบ โรเดโอ (El Nuevo Rodeo) ไน้ท์คลับดังในหมู่พวกลาติน อเมริกาที่ตั้งอยู่ทางใต้ของ มินนิอาโพลิส รัฐมินนีโซตา (Minneapolis, Minnesota) สหรัฐ อเมริกา เผยว่า ทั้ง 2 คนเคยทำงานเป็น รปภ. ในไน้ท์คลับของตนด้วย โดย เดเหร็ค ทำอยู่นานร่วม 17 ปี เป็นหัวหน้าของพวกตำรวจที่มาดูแลความเรียบร้อย ในขณะที่ จ๊อร์จ ซึ่งทำงานอื่นอยู่แล้ว มักถูกเรียกมาเสริมกำลัง รปภ. แบบเป็นครั้งเป็นคราวเวลามีงานใหญ่ๆ รวมอย่างน้อยก็ 10 กว่าหน ซึ่งช่วงปีที่ผ่านมาก็ยังทำอยู่ เพิ่งมาหยุดในช่วง โคโรนาวายรัส ระบาดนี่แหละ

เธอยังเปิดเผยต่อไปว่า เดเหร็ค เข้ากันได้ดีกับพวกลูกค้าลาติน อเมริกา แต่ถ้าลูกค้าที่สร้างปัญหานั้นเป็นคนผิวดำก็มักจะมีเหตุรุนแรงเกินไปอยู่บ่อยๆ แม้เธอก็ไม่อาจยืนยันได้ว่า ทั้ง 2 คนรู้จักกันหรือไม่ แต่ผมก็ว่าเรื่องนี้มันมีเงื่อนงำลึกกว่าที่คิด ซึ่งหาก เดเหร็ค รู้จักและเกิดเหม็นหน้า จ๊อร์จ มาก่อน การตัดสินกรณีที่เป็นต้นเหตุให้ จ๊อร์จ เสียชีวิตคงมีโทษหนักกว่าที่ใครๆคิดอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าลองพิจารณาภาพขณะที่ เดเหร็ค เอาเข่ากดคอ จ๊อร์จ ให้ดีนั้น จะเห็นว่าเขากำลังมองดูเหยื่อในอารมณ์ที่ค่อนข้างชิลๆอย่างมาก เอามือซ้ายล้วงกระเป๋าอีกต่างหาก ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นความเลือดเย็นของตำรวจนายนี้ได้เป็นอย่างดี

กรณีการเสียชีวิตของ จ๊อร์จ ฟลอยด์ ถูกมองว่าเป็นเรื่องการเหยียดผิว ซึ่งสร้างความไม่พอใจเป็นวงกว้าง ผู้คนออกมาประท้วงตามท้องถนน จนลุกลามไปในหลายเมือง ทำลายข้าวของ ร้านรวง และฉวยโอกาสปล้นสะดมก็มี อย่างไรก็ตาม ผู้คนจากวงการบันเทิง นักร้อง นักแสดง และวงการกีฬา นักเท็นนิส นักฟุตบอล ฯลฯ ต่างออกมาร่วมแสดงพลังไม่เห็นด้วยต่อการเหยียดผิวครั้งนี้ และ EYE ON SPORTS ในฐานะคอลัมน์ที่เกี่ยวกับทุกอย่างของชีวิตผ่านกีฬาซึ่งมักจะมีเรื่องพาดพิงการเมืองอยู่บ่อยๆก็ขอร่วมเป็นพลังประท้วงแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการเหยียดผิวอีกส่วนหนึ่งด้วยครับ

ในอดีตนั้น วงการกีฬาก็เคยมีการแสดงพลังต่อต้านการเหยียดผิวมาแล้ว ผมขอย้อนกลับไปใน โอลิมปิค เกมส์ ปี 1968 ที่ เมฮีโก ซิตี้ (Mexico City) เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งในยุคนั้นปัญหาการเหยียดผิวยังมีอยู่มากใน สหรัฐ อเมริกา ในตอนเช้าของวันที่ 16 ตุลาคม 1968 เป็นการแข่งขันรายการวิ่ง 200 เมตร ชาย ซึ่งผลปรากฏว่า นักกรีฑาผิวดำของสหรัฐฯ ได้ขึ้นโพเดียมทั้งคู่ โดย ทอมมี่ สมิธ (Tommie Smith) นักกรีฑาสหรัฐฯ เข้าเส้นชัยเป็นคนแรกด้วยเวลา 19.83 วินาที ทำสถิติโลก พีเท่อร์ นอร์แมน (Peter Norman) จาก อ๊อสตราเลีย เข้าที่ 2 ด้วยเวลา 20.06 วินาที และ จอห์น คาร์ลอส (John Carlos) นักวิ่งสหรัฐฯ อีกคนตามมาเป็นอันดับ 3 ด้วยเวลา 20.10 วินาที

ตอนขึ้นรับเหรียญรางวัลนั้น ทั้ง 3 คนต่างก็ติดเข็มกลัดรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนของโอลิมปิค (Olympic Project for Human Rights) ด้วย แต่ที่พิเศษก็คือ นักกรีฑาสหรัฐฯ ทั้ง 2 คนนัดกันแสดงสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงพลังของคนผิวดำ โดยทั้งคู่ไม่สวมรองเท้า แต่สวมถุงเท้าสีดำอันแสดงถึงความยากจนของคนผิวดำ ทอมมี่ มีผ้าพันคอสีดำบ่งบอกถึงความภาคภูมิใจของคนผิวดำที่เรียกว่า แบล็ค พรายด์ (Black pride) ในขณะที่ จอห์น ปลดซิพเสื้อแจ๊คเก็ตออก อันนี้เป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชนชั้นแรงงานในสหรัฐฯ และสวมสร้อยประคำอุทิศให้กับคนผิวดำที่ถูกทำร้ายหรือฆ่าตาย รวมทั้ง พวกที่ถูกจับโยนทิ้งลงทะเลในยุคไล่ล่าจับคนดำมาเป็นทาส

ความจริง นักกรีฑาผิวดำทั้ง 2 คนนัดกันสวมถุงมือสีดำอันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพลังของคนผิวดำที่เรียกว่า แบล็ค พาวเว่อร์ (Black Power) อันเป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯในยุคทศวรรษที่ 60 ที่เน้นการผนึกกำลังต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของคนผิวดำ แต่ จอห์น ดันลืมถุงมือไว้ที่หมู่บ้านนักกีฬา พีเต้อร์ จึงแนะนำให้ ทอมมี่ แบ่งถุงมือข้างซ้ายให้สวม นี่จึงเป็นเหตุให้มีภาพนักกรีฑาสหรัฐฯ ขณะขึ้นรับเหรียญรางวัลปรากฏเป็นการสวมถุงมือคนละข้างยืนก้มหน้าและชูกำปั้นขึ้นคนละข้างกันอีกบนโพเดียมนั่นเอง ซึ่งผลจากการแสดงสัญลักษณ์ดังกล่าวนักกีฬาสหรัฐฯทั้งสองถูกบีบให้ออกจากหมู่บ้านนักกีฬาและถูกบังคับให้คืนเหรียญรางวัล


กำลังโหลดความคิดเห็น