xs
xsm
sm
md
lg

“ร็อดแมน-ซากุระงิ” ความเหมือนโดยบังเอิญที่แตกต่าง / MVP

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP

หากใครที่อยู่รุ่นราวคราวเดียวกับผม คงเคยอ่านหรือดูการ์ตูน กัปตันซึบาสะ หรือ สแลม ดังก์ กันบ้าง สารภาพเลยว่า ยุคอดีตเราเสพการ์ตูนเหล่านี้เพื่อความบันเทิง พอถึงเวลาที่เราเติบโตขึ้น แล้วกลับมานั่งดูเหมือนเดิม เรากลับชื่นชมมันว่า เป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชน หันมาเล่นกีฬาเพื่อไขว่คว้าความฝัน

ตามประสาคนชอบ “มังงะ” และ “อนิเมะ” ย่อมบอกว่า ผลงานเหล่านี้มันทรงคุณค่ากว่าละครประเภท ฝาแฝดฆ่ากันเอง เพื่อแย่งผู้ชายคนเดียว หรือ ละครใหม่ที่กระแสโปรโมตแรงๆ แค่เห็นทีเซอร์ รู้สึกทันทีว่า นางเอกดู 11 รอ ดอ และไร้ยางอาย เที่ยวไล่จีบพระเอก แต่บางคนกลับมองว่า เป็นตัวแทนหญิงยุคใหม่ กล้า มีความมั่นใจ เฮ้อ!! แล้วหนังสือเรียน จะสอนหญิงให้หลีกเลี่ยงสถานการณ์ล่อแหลมเพื่อ... ก็ละครมันสอนให้จู่โจม พวกผู้สร้างก็จงภูมิใจกับเรตติง และร่ำรวยบนความเสื่อมทรามของสังคมกันไป

เกริ่นมาเสียยืดยาว จริงๆ คือ ยุค “โควิด-19” ซึ่งกีฬาหลายประเภทยังไม่รู้จะแข่งกันต่อหรือโมฆะ มันก็จะเงียบๆ หน่อย พอนึกอะไรไม่ออก ก็เลยอยากทำตัวเป็นนักสืบบ้าง เชื่อเลยว่าแฟนๆ การ์ตูน “สแลม ดังค์” น่าจะเกิดข้อสงสัยอยู่ในใจว่า แรงบันดาลใจของผู้แต่งมาจาก บาสเก็ตบอล เอ็นบีเอ (NBA) หรือเปล่า ??? ก่อนอื่นก็ต้องออกตัวก่อนว่า ผมอ่านการ์ตูนเรื่องนี้เผินๆ สลับกับดูทางโทรทัศน์ เพราะตอนนั้นชอบ กัปตันซึบาสะ มากกว่า

เริ่มที่ตัวเอก ซากุระงิ ฮานามิจิ ซึ่งแฟนๆ เรียกว่า คาแร็กเตอร์ดูคล้ายๆ เดนนิส ร็อดแมน ทั้งสไตล์การเล่นซึ่งเน้นรีบาวน์ดเป็นหลัก แตกต่างกันตรงที่ความยียวนกวนประสาท ซึ่งฝ่าย ร็อดแมน ดูจะเจตนาป่วนคู่ต่อสู้ ส่วน ซากุระงิ เกิดจากความไม่รู้กติกา และไม่เคยมีพื้นฐาน เนื่องจากหวังเข้าชมรม บาสเก็ตบอล เพื่อพิชิตใจสาว กับ เอาชนะ รุคาว่า คาเอเดะ คู่ปรับตามท้องเรื่อง

หรือหากลองเทียบกับปีที่การ์ตูนตีพิมพ์ ปี 1990 จะเห็นได้ว่า ร็อดแมน ช่วงนั้น กำลังเป็นเด็กหนุ่มหัดซ่า ตามรอยรุ่นพี่ ดีทรอยต์ พิสตันส์ ยุคแบดบอย และคาแร็กเตอร์ยังไม่โดดเด่นเท่าไร หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า เป็นแค่สมุนของตัวพ่ออย่าง ริค มาฮอร์น , บิลล์ เลมเบียร์ และ ไอเซียห์ โธมัส เท่านั้น แต่พอเราเห็นชุดแข่งที่ทั้งคู่ใช้เบอร์ 10 เหมือนกัน กอปรกับลีลาการเล่นที่เป็นเครื่องหมายการค้าของ “เดอะ เวิร์ม” มันก็สะกิดว่า มันใช่ไหมเนี่ย

บุคลิกที่แตกต่างระหว่างตัวละคร กับ ชีวิตจริง คือ วินัย มีอยู่ตอนหนึ่งว่า ซากุระงิ รู้สึกตัวเองเป็นต้นเหตุของความพ่ายแพ้ จึงลงโทษตัวเองด้วยการโกนศีรษะ และฝึกซ้อมเทคนิกแย่งรีบาวน์ดกับ กัปตันอาคางื อย่างจริงจัง ส่วน ร็อดแมน ยังดูเป๋นศิลปินไม่เปลี่ยนแปลง อาศัยช็อตตุกติกยั่วอารมณ์คู่ต่อสู้ คล้ายๆ กับรุ่นพี่ พิสตันส์ สร้างสีสันจากชีวิตนอกสนามอยู่เรื่อยๆ

สิ่งที่เราคิดกันมาเสมอว่า ซากุระงิ ถอดแบบมาจาก ร็อดแมน ก็เป็นเพียงความรู้สึกของผู้อ่าน การ์ตูน สแลม ดังค์ บ่งชี้ให้เห็นว่า คุณสามารถเป็นนักบาสฯ อัจฉริยะได้ โดยไม่ต้องมีพรสวรรค์เหมือน รุคาว่า ฟอร์เวิร์ดมาดขรึม หรือ มิตสึอิ ฮิซาชิ จอมแม่น 3 คะแนน จงมองจุดดีของตัวเอง แล้วพัฒนาด้วยพรแสวง คุณก็สามารถเป็นกำลังสำคัญได้ เพราะ ซากุระงิ ไม่ได้เล่นบาสฯ เก่งตั้งแต่แรก แค่อยากพิชิตใจสาวเท่านั้นเอง แต่ว่ารูปร่างสูงใหญ่ และพลังการกระโดดอันน่าทึ่ง จึงกลายเป็นราชารีบาวน์ดแห่ง โชโฮคุ

นอกจากนี้ การ์ตูน สแลม ดังค์ คอยสอนเด็กๆ ที่มีความขยัน แต่ขาดฝีมือ หากคุณไม่ละทิ้งความพยายาม ก็ย่อมประสบความสำเร็จได้ แล้วย้อนดูละครทีวี ตบหรือด่า , แย่งสามีชาวบ้าน หรือตีแผ่ความรักของคนเพศที่ 3 ในฐานะคนดู ไม่เคยคิดเลยว่า พล็อตเรื่องแบบนั้น มันปลูกฝังอะไรแก่คนดูตรงไหน ปลายทางของการดูละคร ผมเห็นมีแต่สะใจที่เห็นตัวโกงพบจุดจบอย่างทรมาน หรือฉากฟินๆ ของดารานำ นอกนั้นก็ไม่รับรู้อะไรแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น