คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
ระหว่างที่หลายชาติยังคิดไม่ออกต้องประกาศหยุดการแข่งขันฟุตบอลชั่วคราวไปก่อน เนื่องจากถูกคุกคามจากการแพร่ระบาดของ โคโรนาวายรัส ในขณะเดียวกันก็พยายามหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด ข้อเสนอหลากหลายพรั่งพรูเข้ามา แต่ก็ล้วนมีผลกระทบให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันทั้งสิ้น บางทางเลือกอาจก่อให้เกิดความเสียหายขนาดเศรษฐกิจพังทลายได้เลย
ใน ฝรั่งเศส ฌ็อง-มีเช็ล โอล้าส (Jean-Michel Aulas) ประธานสโมสร โอแล็งปิ๊ก ลิอ็อนเน (Olympique Lyonnais) ใน ลีก เอิง เสนอให้เป็น “ฤดูกาลที่ว่างเปล่า” หรือในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า เซซง บล้องช์ (Saison blanche) ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็คือ White season หมายถึง ยกเลิกผลการแข่งขันทั้งฤดูกาลนั่นเอง ไม่มีแช้มพ์ ไม่มีทีมเลื่อนชั้น ตกชั้น ส่วนทีมร่วมแข่งถ้วยยุโรปนั้นก็ให้ไปเอาผลของฤดูกาลก่อนมาใช้
หมอนี่เสนออย่างนี้ก็เพราะฤดูกาลนี้ ลิอง ทำผลงานได้แย่ที่สุดในรอบ 20 ปี รั้งอันดับ 7 โอกาสที่จะร่วมแข่ง ยูเอ๊ฟฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มองไม่เห็นเลย แต่หากถือผลของฤดูกาลก่อน ซึ่ง ลิอง จบที่อันดับ 3 ก็จะได้ร่วม UCL เช่นเดิมเฉยเลย ในทางตรงข้าม โอแล็งปิ๊ก เดอ มารแซ็ย (Olympique de Marseille) กับ แรน (Stade Rennais) ย่อมขาดทุนที่ผลของฤดูกาลก่อนนั้น พวกตนไม่ได้สิทธิ์ แต่ฤดูกาลนี้กำลังทำผลงานดีเหลือเกิน รั้งอันดับ 2 และ 3 คว้าสิทธิ์ค่อนข้างแน่นอนด้วยคะแนนที่ห่างเยอะ นี่ยังไม่รวมทีมจาก ลีก เดอ ที่กำลังจ่อขึ้นชั้นที่ต้องเสียสิทธิ์ไปด้วย
White season ก็ถูกพูดถึงใน อังกฤษ ด้วย และถ้าหากถูกนำไปใช้กับ เพรอมิเอ ลีก (FA Premier League) แฟนบอลของ ลิเว่อร์พูล (Liverpool) ต้องไม่พอใจอย่างหนักอาจถึงขั้นก่อจลาจล เพราะตั้งแต่แยกออกมาเป็น เพรอมิเอ ลีก ในฤดูกาล 1992-93 ลิเว่อร์พูล ยังไม่สามารถเอื้อมถึงแช้มพ์ถ้วยใบนี้เลย ปีนี้นับเป็นฤดูกาลที่ชัวร์ที่สุดของ ลิเว่อร์พูล ด้วยคะแนนห่างจาก แมนเช้สเต้อร์ ซิตี้ (Manchester City) ที่รั้งอันดับ 2 อยู่ถึง 25 คะแนน บางคนยอมรับ White season แต่ยอมยกแช้มพ์ให้ ลิเว่อร์พูล อย่างไรก็ตาม ใน อังกฤษ แค่หยุดการแข่งขันไว้ก่อนเท่านั้น
อเล็กซานเดอร์ เชเฟริน (Aleksander Čeferin) ประธานสหสมาคมฟุตบอลยุโรป หรือ ยูเอ๊ฟฟ่า (UEFA) พูดถึง ฟุตบอลชิงแช้มพ์แห่งชาติยุโรป 2020 (EURO 2020) ที่ต้องแข่งขันกันใน 12 ประเทศนั้น อาจเลื่อนออกไปเป็นระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งความเสียหายจะเกิดขึ้นไม่มากนัก ผมลองนึกถึงทฤษฎีนี้ หากนำมาปรับใช้กับลีกในประเทศต่างๆ คือหยุดการแข่งขันในช่วงที่มีโรคระบาด แล้วกลับมาแข่งกันต่อในปีถัดไป โดยนับผลต่อเนื่องด้วย กลายเป็นการแข่งขันประจำ “ฤดูกาล 2019-21” แม้ว่าจะดูยุติธรรมดีกับทุกทีม แต่ระยะเวลาตั้ง 12 เดือนที่ขาดหายไปย่อมจะมีผลกระทบต่อรายได้ไปทุกส่วน
คริสติอาน ซายแฝท (Christian Seifert) ประธานบริหารของ ฟุตบอลลีกเจอรมานี (Deutsche Fußball Liga - DFL) ไม่อยากให้มีการยกเลิก เพราะการแข่งขันฟุตบอลในแต่ละประเทศเป็นธุรกิจกีฬาที่มีมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะในชาติชั้นนำของโลกนั้น ฤดูกาลหนึ่งๆทำเงินสะพัดหลายพันล้าน ยูเอ๊ส ดอลเล่อร์ส ทุกๆแม็ทช์เดย์ของ บุนเดสลีกา สร้างงานให้มากถึง 56,000 จ๊อบ หากการแข่งขันไม่อาจดำเนินต่อไปได้ จะไม่มีผู้สนับสนุน ไม่มีโฆษณา ขาดรายได้ที่เกิดจากการถ่ายทอดการแข่งขัน รวมไปถึงความอยู่รอดของสโมสรที่ต้องตกอยู่ในอันตรายด้วย
ผมนึกถึงทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า บัญชีเมตริกซ์สังคม (Social Accounting Matrix - SAM) ที่เกี่ยวกับการคำนวณหาผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงเมื่อเราใส่เม็ดเงินลงไปในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งแล้วเกิดการบริโภคต่อเนื่อง เช่น คนๆหนึ่งใช้จ่ายเงินเป็นค่าอาหาร ทางร้านอาหารก็ย่อมมีรายได้ไปซื้อวัตถุดิบเพื่อนำมาปรุงอาหาร ห้างร้านก็ได้ขายสินค้า เนื้อ หมู ไก่ ไข่ ผัก พลอยมีรายได้ไปกับเขาด้วย เม็ดเงินจากคนที่อยู่ต้นทางยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงปลายทางคือ เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนาที่ปลูกพืช ผัก ผลไม้ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ด้วย ดังนั้น เขาใช้ทฤษฎี SAM เป็นตัวคูณทวี ทำให้เราตระหนักว่า เงินเพียง 100 บาทที่คนใช้จ่ายนั้น ไม่ได้มีค่าต่อประเทศนั้นๆเพียงแค่ 100 บาท แต่มันเป็นหลายเท่าตัว จะกี่เท่าก็ขึ้นอยู่กับธุรกิจนั้นสามารถทำให้เกิดการบริโภคต่อเนื่องได้มากมายขนาดไหนนั่นเอง ดังนั้น ทางเลือกของผมเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะตามมาอีกชุดใหญ่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเยียวยาหรือสร้างกันใหม่อีกหลายปี เราก็ควรเลือกดำเนินการแข่งขันต่อไปในระบบปิดครับ