คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
เมื่อ 4 ปีที่แล้ว สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ต้องใช้อำนาจแทรกแซงการเลือกตั้ง กรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เพื่อยุติความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ตอนนั้น นายกสมาคม ถูก คณะกรรมการวินัย ฟีฟ่า ลงโทษแบน มีการถอดถอน คณะกรรมการบริหาร ออกจากตำแหน่ง แล้วตั้ง คณะกรรมการกลาง (FAT Normalisation Committee - FAT NC ) ให้มีอำนาจเต็มเทียบเท่า คณะกรรมการบริหารสมาคมฟุตบอล ขึ้นมาทำหน้าที่บริหารแทน และมีภารกิจที่สำคัญคือจัดการเลือกตั้ง คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559
แต่ในปัจจุบัน สมาคมอยู่ในสภาวะปกติ ดังนั้น การจัดการเลือกตั้ง นายกสมาคม อุปนายก และคณะกรรมการกลาง ของ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงเป็นไปตาม ระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 พวกองค์กรพ่อ องค์กรพี่ จะเข้ามาสังเกตการณ์เท่านั้น อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการทั้งหมดทั้งมวลจะไปอยู่ที่ สำนักเลขาธิการสมาคม โดยระเบียบดังกล่าวนั้น องค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ฟีฟ่า เอเอ๊ฟซี รวมทั้ง การกีฬาแห่งประเทศไทย ต่างก็รับทราบและไม่มีความเห็นโต้แย้งใดๆไปแล้ว ผมพูดถึงตรงนี้ก็เพราะมีผู้สมัครบางคนที่อาจไม่ผ่านคุณสมบัติที่ระบุไว้ในระเบียบดังกล่าว โดยเฉพาะ ข้อ 5.12 ต้องไม่เคยถูกสมาคมฟ้องร้อง ... และ ข้อ 5.13 ต้องไม่เคยถูกคำสั่งลงโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการกีฬาฟุตบอลจาก ฟีฟ่า ...
หลายคนคงพอทราบรายชื่อผู้สมัครจากทางสื่อมวลชนกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะในตำแหน่ง นายกสมาคม แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆจะมีผู้ผ่านคุณสมบัติกี่คนนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง งานนี้ สำนักเลขาธิการสมาคม กับ ฝ่ายกฎหมายของสมาคม ได้ทำงานร่วมกันเพื่อรับสมัครและตรวจสอบคุณสมบัติ โดยมีกำหนดแจ้งให้ผู้สมัครแต่ละคนทราบว่า ตนมีคุณสมบัติหรือไม่ ในวันที่ 17 มกราคมนี้ ส่วนสโมสรสมาชิกก็จะได้รับทราบไม่เกินวันที่ 27 มกราคมนี้ สำหรับการประกาศต่อสาธารณะนั้น ไม่ใช่หน้าที่ครับ เราจะไปทราบก็ในวันเลือกตั้งนั่นเลย หรือสื่อมวลชนจะไปคุ้ยแคะเอาเอง เพราะผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติอาจรู้สึกเสียหาย ยิ่งมี มาตรา 73 (3) ใน พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ห้ามสมาคมกีฬาเปิดเผยข้อมูล เอกสาร หรือข้อความอันเกี่ยวกับประโยชน์ได้เสียโดยเฉพาะของสมาชิกผู้ใด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสมาชิกผู้นั้น เพราะฉะนั้น ขืนประกาศต่อสาธารณะก็อาจโดนฟ้องร้องได้
ผู้ท้าชิงหนนี้น่าจะเหลือเพียงคนเดียวคือ นายภิญโญ นิโรจน์ อดีตสภากรรมการสมาคม ที่ทำทีมฟุตบอลจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งประกาศนโยบายนำเอาสิ่งเก่าๆที่เคยทำไว้ดีแล้วมาสานต่อ และบอกกว่าการบริหารงานของชุดปัจจุบันผิดพลาด ไม่เป็นอย่างที่เคยลั่นวาจาไว้ อันนี้ผมเห็นด้วย อย่างน้อยก็ความสำเร็จของทีมชาติ ซึ่งมันคือสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งเลยทีเดียว ในปัจจุบัน นายภิญโญ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ มีฐานคะแนนเสียงพรรคพวกนักการเมืองที่เป็นเจ้าของทีมและมีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งอยู่ไม่น้อย ไม่เช่นนั้นคงไม่กล้าลงชิงตำแหน่งอย่างแน่นอน
ในขณะที่ บิ๊กอ๊อด พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมคนปัจจุบันเพิ่งจัดมอบเงินสนับสนุนย้อนหลังให้แก่สโมสรที่เข้าร่วมแข่งขันลีกดิวิชั่น 2 ตั้งแต่ฤดูกาล 2559 สโมสรละ 500,000 บาท ผมไปค้นย้อนดูได้จำนวนสโมสรในปีนั้นถึง 94 สโมสร แต่ถึงวันนี้มีล้มหายตายจาก ไม่อาจนำเอกสารมาขอเบิกเงินก็เยอะ สโมสรที่ยังคงอยู่ บางทีมเลื่อนชั้นกระจัดกระจายอยู่ในระดับต่างๆก็มาก รวมที่ทยอยมารับทรัพย์ย้อนหลังอย่างน้อยก็ 50 กว่าสโมสรทีเดียว เรื่องมันนานนมแล้ว แต่เพิ่งมาจัดมอบกันก่อนเลือกตั้งพอดี ผมจึงต้องมองว่าเป็นอีก 1 ไม้เด็ดเพื่อมัดใจพวกลูกจ๊อกนะครับ
การประชุมใหญ่พิเศษ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีเพียงวาระเดียวคือ การเลือกตั้งสภากรรมการชุดใหม่ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ จากเดิมที่กำหนดจัดขึ้นที่ โรงแรม อัลมิรอซ ซอยรามคำแหง เกิดมีปัญหาเรื่องสถานที่ เนื่องจากห้องต่างๆมีไม่เพียงพอที่จะต้อนรับบรรดาผู้แทนจากสโมสรสมาชิกและองค์กรต่างๆ จึงต้องเปลี่ยนเป็นที่ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว นะครับ การเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน 69 เสียงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ชั่วโมงนี้ สภากรรมการชุดใหม่จะเป็นหน้าเดิมหรือหน้าใหม่ แฟนบอลคงไม่ยี่หระหรอกครับ ขอเพียงให้บอลไทยได้แช้มพ์หรือไปถึงฝันซะทีก็พอ