ความเคลื่อนไหวเรื่องการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ หลังจากที่สมาคมฯ ได้มีประกาศกำหนดวันประชุมใหญ่พิเศษ เพื่อมีวาระสำคัญคือการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมอัลมีรอซ และได้เริ่มเปิดให้ผู้ที่สนใจสมัครชิงตำแหน่งนายกฯ รวมถึงสภากรรมการ ได้ยื่นเอกสารแล้วตั้งแต่วันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา
โดยมีกระแสข่าว พร้อมการยืนยันจาก “บังยี” นายวรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฯ จะลงทวงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ กลับคืนมา อย่างไรก็ตาม มีโอกาสสูงที่ บังยี อาจจะไม่สามารถลงสมัครได้เนื่องจาก ระเบียบของสมาคมฯ ปรากฎว่ามีข้อขัดข้องในเรื่องของคุณสมบัติ ที่จะต้องไม่เคยถูกลงโทษจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) หรือสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) จนต้องร้องให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย เข้ามาตรวจสอบในประเด็นนี้
ล่าสุด “บิ๊กแชมป์” นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า เรื่องคุณสมบัติผู้สมัครนายกฯ นั้น ได้มีการแก้ไขในข้อบังคับของสมาคมฯ ไปเมื่อการประชุมใหญ่สามัญประจำปี มตินี้ผ่านการรับรองของสโมสรสมาชิกมาแล้ว และได้ส่งให้กับทางกกท.ได้ตรวจสอบว่าขัดกับข้อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งทาง กกท.ไม่ได้มีการโต้แย้งอะไรกลับมา สมาคมฯ ได้ส่งต่อไป ให้ทาง เอเอฟซีพิจารณาก็ไม่มีข้อโต้แย้งเช่นกัน ดังนั้นทางสำนักเลขาธิการจึงได้จัดการเลือกตั้งตามข้อบังคับที่ได้ประกาศออกไป
“การที่กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครนายกสมาคมฯแบบนี้ ยืนยันว่าไม่ได้ออกมาเพื่อสกัดกั้นใคร เปรียบเหมือนการเลือกซีอีโอเข้ามาบริหารองค์กร ควรจะต้องมีความโปร่งใส หรือการที่บุคคลที่ถูกสมาคมฟ้องร้อง ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนั้น จะทำให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดีความได้” นายกรวีร์ กล่าว
ขณะที่จากการที่ได้มีการประกาศ 69 เสียงที่มีสิทธิเลือกตั้งนายกสมาคมฯ ทว่าจากระเบียบนั้นยังมีตัวแทนที่อยู่นอกเหนือจาก 69 เสียง ก็คือ 1. สโมสรชนะเลิศและรองชนะเลิศ ของกีฬาฟุตซอลลีกสูงสุด 2.ทีมชนะเลิศกีฬาฟุตซอลลีกหญิงในลีกสูงสุด 3.ทีมชนะเลิศของกีฬาฟุตบอลลีกชายหาด 4.สมาคมนักกีฬาฟุตบอลอาชีพที่สมาคมและสหพันธ์สมาคมนักกีฬาฟุตบอลอาชีพรับรอง รวมทั้งหมด 5 เสียงด้วยกัน แต่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้
นายกรวีร์ ชี้แจงในข้อนี้ว่าว่า สโมสรเหล่านี้เพิ่งเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกสมาคมฯ เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญประจำปี และยังไม่ได้มีการรับรองโดยสมาชิกในที่ประชุมใหญ่ จึงทำให้ครั้งนี้ยังไม่มีสิทธิในการออกเสียง ถ้าหลังจากเดือนเมษายนนี้ที่จะมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีแล้ว ครั้งต่อไปก็จะมีสิทธิ์ในการออกเสียงได้
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังได้สอบถามไปยัง นายพาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ เรื่องข้อกำหนดวันเลือกตั้ง ทำไมถึงต้องเป็นวันที่ 12 กุมภาพันธ์นั้น นายพาทิศ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เนื่องจากว่าสภากรรมการชุดปัจจุบันจะหมดวาระในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ หลังจากนั้นจะไม่มีอำนาจในการทำงานต่างๆ อย่างเช่นการตัดสินใจ หรือเซ็นงบประมาณ เบิกจ่ายต่างๆ สำนักเลขาธิการจะทำได้แค่ดำเนินการตามหน้าที่ที่มีอยู่เท่านั้น ให้งานเดินไปได้ แต่จะไม่สามารถเซ็นเบิกเงินต่างๆ ได้
นายพาทิศ กล่าวปิดท้ายว่า จริงๆ ตามหลักมันสามารถเลือกตั้งได้ภายใน 90 วันหลังจากที่หมดวาระ แต่ตอนนี้มีหลายอย่างที่ต้องการคนมีอำนาจในการตัดสินใจ เช่นการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี หรือฟุตบอลลีกในประเทศ ก็จะเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ถ้าไม่มีนายกสมาคมฯ ก็จะไม่สามารถเซ็นเบิกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือเงินสนับสนุนของสโมสร ค่าเดินทาง เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องทำเพื่อให้งานของสมาคมฯ สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ