คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
พรุ่งนี้เริ่มเปิดฉากขึ้นแล้วสำหรับรายการเล็กๆที่สร้างความยิ่งใหญ่ให้สโมสรฟุตบอลกลายเป็นสโมสรแช้มพ์โลกไปเลย ฟุตบอลชิงแช้มพ์สโมสรโลก 2019 (2019 FIFA Club World Cup) ที่ประเทศกาตาร ระหว่างวันที่ 11-21 ธันวาคมนี้ ซึ่งต้องโทษทีมงานการตลาดที่ไม่อาจทำให้เป็นทอร์นาเม้นท์ที่แฟนบอลทั่วโลกเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ ความนิยมห่างชั้นกันมากเมื่อเปรียบกับ ฟีฟ่า เวิร์ลด์ คัพ ที่ 4 ปีมีหน
จากความคิดที่ว่าฟุตบอลเก่งๆนั้นมีแค่ในทวีปยุโรปและอเมริกาใต้เท่านั้น ในยุคปี 1960 จึงมีการจัดฟุตบอลชิงแช้มพ์สโมสรโลกขึ้นโดยนำแค่ทีมแช้มพ์ทวีปของทั้ง 2 ทวีปดังกล่าวมาเจอกันก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ให้ชื่อรายการว่า ฟุตบอลชิงแช้มพ์ระหว่างทวีป (Intercontinental Cup) แข่งแบบเหย้า-เยือน ไม่นับผลต่างประตู ไม่มีกฎการทำประตูทีมเยือน ถ้าชนะคนละแม็ทช์ก็มีนัดตัดสินในสนามกลางที่อยู่ในทวีปเดียวกันกับนัดที่ 2 ในอีก 3 วัน บางปีมีทีมขี้เกียจแข่งนัดที่ 2 ยอมให้ทีมที่ชนะนัดแรกครองแช้มพ์ไปเลย บางปีทั้ง 2 ทีมไม่สะดวก หาวันไม่ลงตัว ก็งดไปเลยดื้อๆ
มาถึงยุคปี 1980 โตโยต้า เข้ามาเป็นผู้สนับสนุน เรียกชื่อใหม่ว่า โตโยต้า คัพ (Toyota Cup) จัดแข่งนัดเดียวเลย หากเสมอมีต่อเวลาและถ้าจำเป็นก็ดวลจุดโทษหาทีมชนะ อันนี้ ญี่ปุ่น ผูกขาดเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน พอถึงปี 2000 ฟีฟ่า เริ่มจัดฟุตบอลชิงแช้มพ์สโมสรโลกขึ้นบ้าง โดยคราวนี้เอาทีมแช้มพ์สโมสรถ้วยใหญ่จากทุกทวีปมาร่วมแข่งขัน ทำให้รายการ โตโยต้า คัพ ที่ยังดื้อจัดอยู่ดูโหวงเหวงและต้องยอมเลิกจัดไปโดยปริยายเมื่อจบปี 2004
ในปัจจุบัน ฟุตบอลชิงแช้มพ์สโมสรโลกนั้น ฟีฟ่า จะให้สิทธิ์ชาติเจ้าภาพคราวละ 2 ปีเลย และด้วยความที่ไม่ใช่ทอร์นาเม้นท์ใหญ่โต ไม่ต้องใช้เวลาในการเตรียมการมากมาย สนามแข่งขันก็ใช้เพียง 2 สนามพอแล้ว ดังนั้น กว่าจะตกลงใจให้ กาตาร์ เป็นเจ้าภาพในปี 2019 และ 2020 ก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีกและเพิ่งประกาศอย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี่เอง
ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันคือ ลิเว่อร์พูล (Liverpool) จาก อังกฤษ ในฐานะแช้มพ์ ยูเอ๊ฟฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาล 2018-19 เป็นตัวแทนจากโซนยุโรป ซึ่งเคยได้เข้าร่วมรายการนี้หนหนึ่งแล้วในปี 2005 และจบที่ตำแหน่งรองแช้มพ์ ฟลาเมงโก (Flamengo) จาก บราซิว ในฐานะแช้มพ์ โกปา ลีแบรตาโดเร้ส 2019 เป็นตัวแทนจากโซนอเมริกาใต้ เพิ่งได้เข้าร่วมรายการนี้ครั้งแรก ทั้ง 2 ทีมจากยุโรปและอเมริกาใต้ยังได้รับการยอมรับว่าแข็งแกร่งกว่าทีมจากทวีปอื่นๆ เขาจึงจัดเข้ารอบรองชนะเลิศเลย ต่างก็รอพบกับทีมที่ต้องกรุยทางมาจากรอบสอง เรียกว่าถ้าชนะนัดเดียวก็เข้าชิงชนะเลิศเลย แต่หากแพ้ก็ยังได้ชิงอันดับ 3
ทีมลำดับรองก็มี อัล-ฮีลัล (Al-Hilal) จาก ซาอูดี อาระเบีย ในฐานะแช้มพ์ เอเอ๊ฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก 2019 ตัวแทนจากโซนเอเชียซึ่งเพิ่งเข้าร่วมรายการครั้งแรก เอ๊สเปร้องส์ เดอ ตูนิส (Espérance de Tunis) จาก ตูนีเซีย ในฐานะแช้มพ์ ซีเอเอ๊ฟ แชมเปี้ยนส์ ลีก 2018-19 ตัวแทนจากโซนอัฟริกา ทีมนี้มาหนที่ 3 แล้ว และเป็นทีมเดียวที่เข้าแข่งรายการนี้เมื่อปีที่แล้ว และ ม็อเตอเรย์ (Monterrey) จาก เมฮีโก ในฐานะแช้มพ์ ค็อนคาแค้ฟ แชมเปี้ยนส์ ลีก 2019 เป็นตัวแทนจากโซนอเมริกาเหนือ กลาง และ แคริบเบียน ซึ่งถือว่าช่ำชองกับรายการนี้มากที่สุด เข้าร่วมแข่งเป็นหนที่ 4 แล้ว ทั้ง 3 ทีมได้สิทธิ์รอแข่งในรอบสอง โดย ม็อนเตอเรย์ โชคดีจับสลากได้เจอกับทีมชนะจากรอบแรก ซึ่งหากชนะก็ไปตัดเชือกกับ ลิเว่อร์พูล ส่วน อัล-ฮีลัล เจอกับ เอ๊สเปร้องส์ เดอ ตูนิส ผู้ชนะได้ไปตัดเชือกกับ ฟลาเม็งโก
ทีมที่ถูกจัดอยู่ในลำดับอ่อนที่สุดก็คือ เอียงแก็น สปอร (Hienghène Sport) จาก นูแว็ล-กาเลโดนี (Nouvelle-Calédonie) ดินแดนโพ้นทะเลของ ฝรั่งเศส ในฐานะแช้มพ์ โอเอ๊ฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ตัวแทนจากโซนโอเชินเนีย เข้าร่วมรายการเป็นครั้งแรกด้วย รวมทั้ง อัล-สาด (Al-Sadd) จาก กาตาร ชาติเจ้าภาพที่ได้รับสิทธิ์ส่ง 1 ทีมเข้าร่วมการแข่งขัน จึงส่งทีมแช้มพ์ลีกสูงสุดของตนที่เรียกว่า กาตาร สตาร์ส ลีก (Qatar Stars League - QSL) ฤดูกาล 2018-19 มา ซึ่งความจริง อัล-สาด เคยได้แช้มพ์ เอเอ๊ฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ในปี 2011 และเป็นตัวแทนทวีปเอเชียเข้าร่วมรายการนี้มาแล้ว ทั้ง 2 ทีมดังกล่าวต้องเจอกันในรอบแรกเสียก่อนเพื่อหาทีมชนะเข้าไปพบกับ ม็อนเตอเรย์ ในรอบสองครับ