คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลตรีนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
ที่คลับเฮาส์ก่อนออกรอบ “พี่หมอครับ เก่งพยายามลดน้ำหนักโดยกินน้อยลงและงดมื้อเช้าด้วย แต่พอตกกลางคืนเก่งหิวจนทนไม่ไหวต้องออกไปตลาดโต้รุ่งฟาดของอร่อยซะพุงกางทุกคืนเลยน้ำหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกครับ” (เมื่อได้มองพุงไอ้เด็กอ้วนแล้วก็สมน้ำหน้ามันไม่ลง) โดยอาการอย่างนี้ คุณหมอต้น (นพ.กฤษดา ศิรามพุช) เรียกว่า “โรคสวาปามยามดึก” เดี๋ยวออกรอบเสร็จจะเล่าให้ฟัง
- สวาปามยามดึก ก่อนโทษ 7 ประการ
เป็นความผิดปกติของการกินแบบหนึ่ง คือ การกินในเวลาที่ไม่ควรกินอย่างเวลาดึก หรือถึงขึ้นละเมอกินในเวลานอน ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคบางอย่างด้วย
เมืองไทยเป็นเมืองหลวงแห่งการรับประทานอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งการรับประทานข้าวต้มรอบดึก บะหมี่เกี๊ยวร้อน ๆ กระเพาะปลา กวยจั๊บ ราดหน้า รวมถึงของหวานอย่าง เต้าทึง บัวลอยไข่หวาน ตอนรัตติกาล ถือเป็นเรื่องธรรมดา ที่ทำกันปกติ
แต่เมื่อทานบ่อยและหนักเข้าอาจเข้าข่ายเป็นโรคติดกินต่อดึก ซึ่งเป็นสัญญาณอาการป่วยใจตามเกณฑ์ล่าสุดทางจิตเวช โดยเกี่ยวกับความเครียด อารมณ์ และอาการนอนไม่หลับ บางคนกินถึงขั้นที่แทบจะห้ามตัวเองไม่ได้ ซึ่งพอรับประทานแล้วก็กลับมารู้สึกผิดซ้ำซ้อน
- 7 ปัญหาที่มากับการกินตอนดึก
1. เสี่ยงโรคอ้วน โดยเฉพาะอาหารพลังงานสูงแต่คุณค่าต่ำและมื้อดึกกินแล้วนอนทำให้รูปร่างเปลี่ยนไปได้อย่างไม่รู้ตัว
2. นอนไม่หลับ ในขณะที่กระเพาะบีบตัวจัดการกับอาหารนั้นจะทำให้การนอนสะดุดอาการอึดอัดไม่สบายในท้อง ทำให้มีปัญหาตอนนอนได้
3. กรดไหลย้อน อาการเรียกน้ำย่อยมื้อดึกเป็นการฝึกให้กระเพาะอาหารทำงานผิดเวลาและการนอน ยิ่งทำให้กรดไหลย้อนในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมา ทำให้เกิดอาการแสบร้อน จุกแน่น และไอได้
4. มีผลต่อฮอร์โมนสุขภาพ อาทิ ฮอร์โมนนิทรา หรือ เมลาโทนีน ซึ่งเกี่ยวกับการนอน ภูมิคุ้มกัน และสุขภาพโดยรวมของร่างกายด้วย
5. โรคเก่ากำเริบ โดยเฉพาะโรคน่าห่วงอย่าง เบาหวาน ความดันสูง ไขมัน โรคหัวใจ และโรคไต
6. ติดเป็นนิสัย การกินดึกติดกันไปนาน ๆ จะทำให้ชินกลายเป็นนิสัยที่ตื่นเช้ามาไม่อยากกินอาหารเช้า เพราะยังอิ่มอืดเป็นงูหลามจากเมื่อคืน ทำให้อดอาหารเช้าจนชิน แล้วไปหิวเอาตอนบ่ายผิดเวลาไปถึงเย็นจนทำให้กินหนักเอาช่วงค่ำคืนจนติดเป็นกิจวัตร
7. เพิ่มความเสี่ยงโรคร้ายแรง อย่างโรคที่เกี่ยวกับความอ้วน เมตาโบลิกซินโดรม (อ้วนลงพุงมฤตยู) หยุดหายใจตอนหลับ หัวใจทำงานหนัก ไปจนถึงโรคภูมิแพ้ เพราะอดนอนจากการนอนหลับไม่สนิท
ผู้เชี่ยวชาญโรคอ้วนจากศูนย์วิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยทัฟต์ ยืนยันว่า การกินดึกทำให้มีแนวโน้มที่จะอดอาหารเช้า ซึ่งกระทบต่อการกินและสุขภาพต่อเนื่องไปทั้งวัน ซึ่งทางแก้ไขนั้นมีหลักอยู่ที่การแก้ที่ต้นเหตุ เช่น ถ้าเป็นเรื่องจิตใจ ก็ต้องหาทางแก้ให้ได้ แล้วร่วมกับการรับประทานอาหารในเวลากลางวัน เช่น ไม่อดมื้อสำคัญอาหารเช้า เข้านอนเป็นเวลาและอย่าปล่อยให้ท้องว่างติดต่อกันนานเกิน 5 ชั่วโมง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะรวมกันทำให้การติดกินดึกค่อย ๆ หายไปในที่สุด
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *