ผู้จัดการรายวัน 360 – แม้ว่าวงการยัดห่วงไทยจะไม่เปรี้ยงปร้างเช่นเดียวกับกีฬาอย่าง ฟุตบอล หรือ วอลเลย์บอล แต่ก็มีสัญญาณบวกที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนา โดยเฉพาะการจัดตั้งลีกการแข่งขันภายในประเทศ และเริ่มจะได้รับความสนใจที่เพิ่มมากขึ้นจากแฟนกีฬา
ซึ่งภายหลังการแข่งขันบาสเกตบอลชายชิงชนะเลิศแห่งอาเซียนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากจะมีทีมชั้นนำมาร่วมแข่งขัน แต่ไฮไลท์ที่น่าสนใจคือ "สเตเดียม 29" ที่ได้ใช้เป็นสนามกลางในศึกไทยแลนด์ บาสเกตบอล ลีก 2016 เพราะนอกจากจะสะดุดตาด้วยความหรูหราจากภายนอก ขณะที่ภายในก็ยังมีความทันสมัยหลากหลายชนิดที่ไม่เคยเห็นในเมืองไทยมาก่อน
โดย ซังโด ลี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการสร้างสนามบาสเกตบอลที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนแห่งนี้ ว่าเกิดจาก พิชญ์ โพธารามิก เจ้าของบริษัทเครือ โมโน กรุ๊ป ที่ชื่นชอบกีฬาชนิดนี้เป็นชีวิตจิตใจ แต่ต้องการโยงบาสเกตบอลเข้าธุรกิจของตัวเองที่เกี่ยวข้องกับสื่อ และทำให้คนไทยมาหลงใหลกีฬานี้ ควบคู่ไปกับสปอร์ตเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จึงได้ลงทุนระยะยาวจึงได้ใช้งบประมาณกว่า 200 ล้านบาทในการสร้างสนาม เพื่อหวังใช้ประโยชน์กับทีมชาติไทยได้ในอนาคตอีกด้วย
"ในอนาคตเราจะทำให้ลานอเนกประสงค์ด้านหน้าสนามกลายเป็นสถานที่จัดกิจกรรมความบันเทิงต่างๆ อาทิ นำบู๊ทของผู้สนับสนุนมาจัดกิจกรรมนันทนาการในวันที่มีการแข่งขันบาสเกตบอล เพื่อดึงดูดผู้ชมให้เข้ามาในสนามมากยิ่งขึ้น" นาย ซังโด ลี กล่าวทิ้งท้าย
สิ่งที่น่าสนใจของสนามนี้ นอกจากเก้าอี้ของผู้ชมจะสามารถพับเก็บเพื่อการใช้สอยต่างๆ ได้แล้ว ยังมีสามารถจุผู้ชมได้กว่า 1,500 ที่นั่ง มีจอมอนิเตอร์ 4 ทิศทางอยู่ด้านบน สามารถแบ่งฉายภาพสกอร์ ภาพผู้เล่นขณะแข่งขัน หรือแม้แต่ภาพย้อนหลังในจังหวะสำคัญ ส่วนพื้นสนามไม้ปาเก้ยังส่งตรงมาจากสหรัฐอเมริกา และออกแบบให้มียางรองรับอยู่ด้านล่าง เพื่อช่วยป้องกันการกระแทก ทำให้นักกีฬาไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง
ด้าน อภิโชค แซ้โค้ว ผู้ช่วยผู้จัดการบาสเกตบอลทีมชาติไทย เปิดเผยว่าสนามแห่งนี้ได้กลายเป็นที่เก็บตัวของนักกีฬาทีมชาติในปัจจุบันไปแล้ว เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวก และได้มาตรฐานมากกว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย รวมทั้งสามารถรองรับการจัดแข่งขัน "ซีเกมส์" หรือ "เอเชียนเกมส์" ได้อีกด้วย
"จากเดิมเราจะเก็บตัวนักกีฬาทีมชาติที่ กกท. ซึ่งก็ใช้รวมกับนักกีฬาชนิดอื่น แต่ตอนนี้ได้หารือกันว่าจะย้ายมาใช้สนาม สเตเดียม 29 เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า ทั้งห้องฟิตเนสที่ใช้งบประมาณสร้างกว่า 10 ล้านบาท, ห้องน้ำนักกีฬาก็จะมีอ่างแช่เย็น ไว้ช่วยคลายกล้ามเนื้อหลังการแข่งขัน, ไฟในสนามได้มาตรฐานการแข่งขันนานชาติ และมีห้องจำหน่ายของที่ระลึกจากสโมสรต่างๆ ไว้ให้แฟนคลับได้เลือกสรร ในอนาคตจะมีการทำห้องกายภาพ หรือห้องต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเก็บตัว"
"สนามแห่งนี้ถือว่าช่วยให้ทีมชาติไทยได้ประโยชน์มากขึ้นในการแข่งขัน เพราะมาตรฐานจะเหมือนกับสนามทั่วโลก ยกตัวอย่าง การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ หรือเอเชียนเกมส์ ปกติเราจะเก็บตัวที่ กกท. แต่เมื่อไปแข่งสนามจริง นักกีฬาจะไม่คุ้นเคย เนื่องจากมาตรฐานต่างกันมาก แต่หากมาเก็บตัวฝึกซ้อมที่นี่ ก็จะช่วยให้เราไม่เสียเปรียบคู่แข่งเหมือนแต่ก่อน และในปีนี้ได้มีการใช้สนามนี้เป็นสนามกลางในการแข่งขันลีก จะช่วยให้นักกีฬามีความคุ้นเคย โดยเฉพาะนักกีฬาทีมชาติที่กระจายตัวอยู่ตามสโมสรต่างๆ ก็จะได้ทำความคุ้นเคยกับสนามไปในตัว" นายอภิโชค กล่าว
ทั้งนี้ปลายปีจะมีการจัดแข่งขัน สโมสรชิงแชมป์อาเซียน จะย้ายมาทำการแข่งขันที่ สเตเดียม 29 แทนที่ต้องไปเช่าสนามกีฬาอเนกประสงค์ ของ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย จึงเห็นได้ชัดว่าสนามแห่งนี้จะสามารถช่วยพัฒนาวงการบาสเกตบอลของไทยให้ก้าวไปสู่ความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น และอีกไม่นานก็คงได้รับความนิยมจากแฟนๆ ชาวไทย จนเกินความจุของสนามอย่างแน่นอน