ASTV ผู้จัดการรายวัน – ฟุตบอลไทยกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งทีมชาติและสโมสร หลายทีมต่างเริ่มที่จะพัฒนาอะคาเดมีของตัวเอง เพื่อปั้นดาวรุ่งดวงใหม่ขึ้นมาประดับวงการ ทว่าที่ผ่านมายังไม่มีเวทีให้เด็กเหล่านี้ได้ปล่อยของอย่างจริงจัง มีเพียงทัวร์นาเมนท์สั้นๆ เท่านั้น แต่วันนี้ได้มีผู้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ พร้อมก่อตั้ง ลีกเยาวชน ระดับรุ่นอายุไม่เกิน 13 และ 15 ปี ให้แข้งจิ๋วได้โชว์ฝีเท้าแล้ว ในชื่อ “มิราเคิล ไทย ยูธ ลีก”
สำหรับ มิราเคิล ไทย ยูธ ลีก (Miracle Thai Youth League) ฟาดแข้งมาแล้ว 1 ฤดูกาล ในปี 2014/2015 รุ่นอายุไม่เกิน 13 ปี มี 8 ทีมเข้าชิงชัย โดยเป็น อัสสัมชัญ ยูไนเต็ด ที่คว้าแชมป์ ด้วยการเฉือน เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด 5 คะแนน ส่วนในฤดูกาลล่าสุด 2015/2016 ที่จะมีการฟาดแข้งในระบบเหย้า-เยือน ระหว่างวันที่ 3 ตุลาคม 2558 ถึง 20 กุมภาพันธ์ 2559 ได้มีการเพิ่มการแข่งขันในรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ขึ้นมาอีก 1 ลีก พร้อมปรับระบบใหม่ให้แต่ละลีก มี 2 ดิวิชัน ระดับละ 8 ทีม และมีตกชั้น-เลื่อนชั้น ลีกละ 3 ทีม มีสโมสรชั้นนำจากทั่วประเทศส่งทีมเข้าชิงชัย อาทิ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, ชลบุรี เอฟซี, บางกอกกล๊าส เอฟซี, บีซีซี เทโร, แบงค็อก ยูไนเต็ด, การท่าเรือ เอฟซี, เชียงราย ซิตี, ปทุมธานี ยูไนเต็ด, ธนบุรี ซิตี ฯลฯ ซึ่งหลายทีมส่งเข้าร่วมแข่งขันทั้งสองรุ่นอายุ
โดย พ.ต.ท.ชัยพร ออฟูวงศ์ ประธานจัดการแข่งขัน กล่าวถึงจุดประสงค์หลักของการจัดแข่งขันรายการนี้ว่า “เรามีความตั้งใจที่ให้เด็กที่มีความสามารถในด้านฟุตบอล แต่ไม่มีสนามเล่นในช่วงอายุ 13 และ 15 ปี ได้ลงเล่นอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมามีเพียงรูปแบบทัวร์นาเมนท์ช่วงสั้นๆ 1-2 สัปดาห์เท่านั้น เราจึงจัดแข่งขันในรูปแบบลีกอาชีพขึ้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายคือมุ่งเน้นไปที่การสร้างระเบียบ วินัย และ สปิริต รวมถึงฝึกให้เด็กรู้ถึงกฎกติกาในสนาม กติกาในสังคม และให้ได้รับบรรยากาศของนักฟุตบอลที่ลงเล่นในลีกอาชีพ เพราะต้องใช้ความอดทน มุ่งมั่น และมีสมาธิตลอด 4 เดือนเศษ แต่ละทีมจะได้ลงเล่นอย่างน้อยทีมละ 14 แมตช์ต่อซีซัน”
“อย่างไรก็ตาม รายการนี้เราจะไม่มีเงินรางวัลให้ เพราะถ้ามีเงินรางวัลเป็นสิ่งจูงใจ ทีมและเด็กอาจมุ่งที่จะชนะกันมากเกินไป ซึ่งนั่นไม่ใช่เป้าหมาย แต่เราจะมีถ้วยรางวัลเกียรติยศ และเหรียญรางวัล ให้กับทีมชนะเลิศ กับ ทีมแฟร์เพลย์ ที่มีความสำคัญเทียบเท่ากัน เพื่อให้ตระหนักว่านอกจากการแข่งขันแล้ว ต้องเป็นคนที่เคารพกฎกติกา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเยาวชน” ประธานฝ่ายจัดฯ กล่าว
ขณะการส่งทีมเข้าร่วมนั้นจะมีค่าสมัคร 25,000 บาทต่อ 1 ทีม โดยมีข้อแม้คือต้องส่งในนามสโมสรที่เล่นในลีกอาชีพ และใช้สนามเหย้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เท่านั้น โดย พ.ต.ท.ชัยพร เผยว่า “ปีแรกเราเปิดรับทุกทีม ทั้งทีมสโมสร ทีมอะคาเดมี หรือทีมโรงเรียน ทำให้เจออุปสรรคพอสมควร ทั้งเรื่องวัน-เวลาแข่ง หรือการดำเนินการของแต่ละทีม เราจึงมองว่าในอนาคต การพัฒนาฟุตบอลจะต้องผ่านสโมสรเป็นหลัก จึงตัดสินใจใช้สโมสรฟุตบอลเป็นตัวตั้ง โดยต้องส่งในนามสโมสรเท่านั้น แต่สโมสรสามารถไปจับมือใช้เด็กจากอะคาเดมีหรือโรงเรียนอื่นๆที่ตนรับรองได้ นอกจากนี้ทุกทีมที่เข้าร่วมไม่ว่าจะมาจากจังหวัดใดก็ตาม ต้องมีสนามเหย้าอยู่ในเขตกรุงเทพฯหรือปริมณฑล เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องการเดินทาง”
“ทุกทีมส่งนักเตะได้ทีมละ 30 คน จะเป็นนักเตะต่างชาติกี่คนก็ได้ แต่มีกฎคือผู้เล่นต่างชาติจะต้องมีพ่อและแม่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เพื่อที่จะสามารถรับรองเรื่องต่างๆได้ ส่วนกติกาก็ยึดตามหลักสากล แต่มีการเปลี่ยนแปลง เรื่องเวลาการแข่งขันให้เหมาะสมกับเยาวชน คือ รุ่น 13 ปี จะแข่งครึ่งละ 35 นาที ส่วนรุ่น 15 ปี แข่งครึ่งละ 40 นาที และพัก 15 นาทีเท่ากัน ที่สำคัญเราจะใช้ผู้ตัดสินจากสมาคมฟุตบอลฯ ซึ่งได้เน้นในเรื่องการสอนเด็กเป็นหลัก ทุกครั้งที่เป่าฟาวล์แล้วต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าตนผิดพลาดเรื่องใด”
พร้อมกันนี้ พ.ต.ท.ชัยพร ได้ทิ้งท้ายถึงเสียงตอบรับว่า “ทุกสโมสรดีใจมาก เพราะเขารอมานานแล้ว แต่ละทีมมีอะคาเดมีที่แข็งแกร่ง แต่ไม่รู้จะไปเตะกับใคร นอกจากนี้หลายทีมยังมีนักเตะที่มีความสามารถเกินระดับปกติไปแล้ว ซึ่งในรายการนี้เขาจะได้เจอคู่แข่งในระดับที่ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามตอนนี้ด้วยศักยภาพของเรายังสามารถจัดได้เพียงแค่ 2 รุ่น เพราะมีผู้สนับสนุนไม่มากนัก ทุกคนเข้ามาทำด้วยใจรัก ไม่ได้หวังผลประโยชน์ มีเพียง มูลนิธิ มิราเคิล ออฟไลฟ์ สมาคมฟุตบอลฯ, บริษัท ยูโรเปี้ยนฟู๊ด จำกัด (มหาชน) และ บริษัท วินโคสท์ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งในอนาคตหากมีผู้สนับสนุนเข้ามาเพิ่ม ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มลีกในรุ่นอื่นๆขึ้นมา”
ด้าน อรรณพ สิงห์โตทอง รองประธานสโมสรชลบุรี เอฟซี ได้ให้ข้อเสนอแนะถึงการจัดลีกเยาวชนในครั้งนี้ว่า “การจัดบอลเด็กเป็นเรื่องที่ดีมากอยู่แล้ว ต้องขอขอบคุณทางฝ่ายจัดที่เห็นความสำคัญ เด็กอายุ 13 และ 15 ปี คือฐานใหญ่ที่จะกลายเป็นตัวเลือกให้กับบสโมสรและทีมชาติในอนาคต อย่างไรก็ตามต้องตามดูว่าจะประสบความสำเร็จเห็นผลได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งในส่วนของเงินรางวัลนั้นไม่ใช่ประเด็นใหญ่ แต่ในอนาคตหากมีสปอนเซอร์เข้ามาเพิ่มขึ้น อาจมีการแบ่งเงินให้กับทีมที่เข้าร่วมเพื่อเป็นค่าเดินทางบ้าง โดยการให้เงินเป็นแมตช์ ตามระยะทางใกล้ไกล ตามแต่ละทีมที่จะต้องไปแข่งขันกัน”
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *