xs
xsm
sm
md
lg

สตาร์กีฬาไทยแจงปัญหา ดันรุ่นน้องสู่อาชีพเต็มตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กัปตันกิ๊ฟ” ฝากเรื่องอะคาเดมี
ASTV ผู้จัดการรายวัน – การจะก้าวขึ้นเป็นนักกีฬาอาชีพ หาเงินเลี้ยงปากท้องตัวเองรวมถึงครอบครัวได้นั้น ต้องผ่านอุปสรรคมากมายก่อนจะถึงเป้าหมาย ซึ่งวันนี้เหล่าสตาร์ทีมชาติไทยจาก 3 ชนิดกีฬาที่ทำสำเร็จถึงฝั่งฝันเรียบร้อย อย่าง “กิ๊ฟ” วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ “เจน” เจนรบ สำเภาดี และ “ออม” สุภมาส แสงจันทร์ ได้ร่วมชี้ถึงปัญหาที่แต่ละคนต้องเจอในวัยเยาว์ พร้อมฝากไปถึงผู้เกี่ยวข้องให้ช่วยพิจารณา เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมและพัฒนาสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพของเยาวชนรุ่นหลัง

เมื่อวันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม มีงานเสวนา “เส้นทางสู่กีฬาอาชีพ ความฝัน...ความหวังและความจริง” เพื่อการตัดสินใจเลือกเส้นทางกีฬาอาชีพ หรือ การศึกษาให้กับบุตรหลาน ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 25 โดยมี 3 นักกีฬาดังร่วมเป็นวิทยากรพร้อมถ่ายทอดประสบการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละคนต้องเผชิญอุปสรรคกว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ จึงมองว่ามีหลายจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไข

รายแรก “กิ๊ฟ” วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ กัปตันทีม วอลเลย์บอลหญิง ทีมชาติไทย เล่าให้ฟังว่าตนต้องผ่านอุปสรรคนับไม่ถ้วนกว่าจะก้าวเป็นนักตบลูกยางแถวหน้า “สมัยเริ่มเล่นวอลเลย์บอลเราเจออุปสรรคมามากมาย เพราะแม้เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมจากเด็กผู้หญิงตามต่างจังหวัด แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก ยังไม่มีลีกอาชีพเหมือนทุกวันนี้ ที่สำคัญเรายังไม่รู้ว่าจะใช้กีฬาชนิดนี้เลี้ยงตัวเองได้ จึงต้องเรียนควบคู่กันไปด้วย ซึ่งทางโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ร่วมมือกับทางทีมชาติก็จะไม่ได้สนับสนุนเรื่องนี้มากนัก ต้องตามเรียนเองจึงจะจบมาได้ ต่างจากทุกวันนี้ที่สถาบันต่างๆเริ่มให้การสนับสนุนมากขึ้น”

“เมื่อทุกวันนี้เราแสดงให้เห็นแล้วว่าการเล่นกีฬาวอลเลย์บอล มีผลตอบแทน สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ก็อยากให้โรงเรียนต่างๆช่วนสนับสนุนให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านอุปกรณ์ สถานที่ฝึกซ้อม รวมถึงเรื่องภาษาอังกฤษ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากหากหวังจะก้าวหน้าในอาชีพนี้ ขณะที่ภาครัฐก็จะต้องช่วยคิดโครงการ หรือแนวทางให้น้องๆได้พัฒนามากขึ้น ส่วนตัวมองว่าแมตช์แข่งเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ายิ่งมีจัดแข่งมาก น้องๆก็จะมีประสบการณ์มาก นอกจากนี้อยากให้สโมสรช่วยซัพพอร์ทด้วยอีกทาง โดยที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการสนับสนุนผู้เล่นที่เล่นดีแล้ว นำผู้เล่นที่เก่งแล้วมารวมกันทำทีมลงแข่งลีก แต่อยากให้ลงไปทำในชุดอะคาเดมีหรือเยาวชนให้มากขึ้น เริ่มสร้างตั้งแต่เด็ก ยิ่งเล่นนานเท่าไหร่เบสิคและสกิลจะยิ่งดี” วิลาวัณย์ เน้น

ขณะที่กีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอย่างฟุตบอล แม้จะมีตัวอย่างให้เห็นมากมายว่าหากประสบความสำเร็จในอาชีพจะมีเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท แต่กว่าจะถึงจุดนี้ได้ก็ต้องเจอเรื่องลำบากใจไม่น้อย โดย “เจ้าเจน” เจนรบ สำเภาดี ศูนย์หน้าทีมชาติไทย ชุดแชมป์ซีเกมส์ 2015 จากสโมสรบีอีซี เทโรศาสน ฝากถึงผู้เกี่ยวข้องว่า “อุปสรรคอย่างแรกก่อนจะก้าวขึ้นเป็นนักฟุตบอลอาชีพ คือเรื่องการเรียน เมื่อถึงจุดหนึ่งเราต้องตัดสินใจว่าจะเรียนต่อ หรือเล่นฟุตบอล เพราะยังไม่ใช่อาชีพที่มั่นคง ที่สำคัญการเป็นนักกีฬาจะมีปัญหาเรื่องการเข้าเรียน ถ้าเป็นไปได้อยากให้อาจารย์เข้าใจมากขึ้น ว่าการเป็นนักกีฬาก็ต้องเหนื่อยมากกว่าคนอื่น มีภารกิจช่วยโรงเรียน ช่วยชาติ ช่วยสโมสร อยากให้ช่วยกันอะลุ่มอล่วยให้ลูกศิษย์เรื่องการส่งงานหรือตามงานบ้าง”

“ที่สำคัญโรงเรียนควรจะสนับสนุนหรือเพิ่มทุนการศึกษาให้มากขึ้น เพื่อให้โอกาสกับเด็กหลายๆคนได้เข้ามาลองใช้ชีวิตการเตรียมเป็นนักกีฬาอาชีพดู รวมถึงเรื่องอุปกรณ์ เพราะมีหลายโรงเรียนที่เด็กต้องไปซื้อรองเท้าสตั๊ด ชุดกีฬา หรือชุดลำลองเอง ถ้าจะให้ดีทางโรงเรียนควรจะช่วยแชร์ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ คือ อาจจะช่วยออกกันคนละครึ่ง หรือสนับสนุนเป็นกองกลางต่อปีเป็นรุ่นๆไป” แข้งวัย 20 ปี กล่าว

ส่วนกีฬาประเภทบุคคลที่ต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัวนั้น เรื่องเงินดูจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ “น้องออม” สุภมาศ แสงจันทร์ นักกอล์ฟหญิงวัย 19 ปี ดีกรีเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2014 ที่เทิร์นโปรก้าวสู่การเป็นสวิงมืออาชีพเต็มตัว ได้ฝากถึงสมาคมกีฬาให้ช่วยซัพพอร์ทนักกีฬาที่ยังไม่ก้าวขึ้นติดธง “กอล์ฟเป็นกีฬาบุคคล กว่าจะติดทีมชาติได้นั้นก็ต้องใช้ทุนตัวเองตั้งแต่เด็ก เล่นมา 6-7 ปี กว่าจะมีสปอนเซอร์หรือภาครัฐเข้ามาช่วยก็ตอนติดทีมชาติแล้ว และส่วนใหญ่ติดแค่ 2-3 ปี พอเทิร์นโปร ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนแล้ว ต้องหาสปอนเซอร์ด้วยตัวเอง จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนให้มากขึ้น”

“สิ่งแรกเลยคือ อยากให้มีการจัดการแข่งขันให้มากขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้เด็กได้พัฒนาฝีมือ รวมถึงได้เงินรางวัลมาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย รวมทั้งเมื่อติดทีมชาติไปแล้วก็อยากให้ทางสมาคมฯช่วยออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปคัดตัวในรายการเล็กๆด้วย เพราะถือว่ากว่าที่เราจะมาถึงจุดนี้เราต้องใช้ทุนตัวเองไปมาก การที่เราพิสูจน์ว่าสามารถเก่งจนติดทีมชาติได้ก็ควรที่จะได้สิทธิ์ช่วยเหลือ เพื่อเป็นกำลังใจในการพัฒนาต่อไป นอกจากนี้คือเรื่องการสอนและบุคลากร ที่ผ่านมาหากเด็กอยากจะเล่นหรือเรียนกอล์ฟจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ถ้ามีการเปิดสอนโดยไม่เก็บเงินหรือมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงนักก็จะเป็นเรื่องดี” น้องออม ทิ้งท้าย

ด้าน สกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) ยืนยันว่าจะช่วยพัฒนาให้ดีขึ้นมากกว่าเดิม “ในฐานะผู้ดูแลเรื่องกีฬาโดยตรง เรามองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้มาก เพราะเมื่อก่อนเราเน้นที่การเล่นกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ คือ เล่นให้ดีที่สุด ติดทีมชาติ หรือคว้าเหรียญรางวัล แต่วันนี้การจะเป็นนักกีฬาอาชีพได้นั้นจะต้องก้าวขึ้นไปอีกขั้น เพราะไม่ได้เล่นเอาเบี้ยเลี้ยง แต่ต้องเล่นเพื่อความอยู่รอดและเลี้ยงชีวิต การติดทีมชาติเป็นเพียงองค์ประกอบช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับนักกีฬาเท่านั้น ดังนั้นเราจึงเริ่มเน้นที่การพัฒนาตั้งแต่เยาวชน โดยจะนำอุปกรณ์ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาไปช่วยสนับสนุนตามสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งในปี 2559 นี้ จะเริ่มมีแล้ว 5 แห่ง ภายใต้งบประมาณแห่งละ 6 ล้านบาท รวมถึงสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ปกครองและเยาวชนด้วยการจัดทำหนังชีวิตจริงของนักกีฬาอาชีพ จาก ฟุตบอล วอลเลย์บอล และ เทควันโด ให้ได้รับรู้ว่าการเป็นนักกีฬาอาชีพต้องเจอปัญหาอะไรบ้าง และเมื่อประสบความสำเร็จจะได้รับอะไรบ้าง เมื่อทุกคนเข้าใจมากขึ้นปัญหาต่างๆที่นักกีฬาเคยเจอมาก็จะคลี่คลายได้ง่ายขึ้นแน่นอน”

* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!***


เจนรบ วอนอาจารย์เข้าใจ
สุภมาส เน้นเรื่องทุนสนับสนุน
“บิ๊กเสือ” วางแผนพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น