เอเยนซี - ใกล้งวดเข้ามาทุกทีสำหรับการเลือกตั้งประมุขคนใหม่ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟา) ที่จะเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคมนี้ ที่นครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดูแล้วเข้มข้นทีเดียวเพราะนอกจาก เซปป์ แบล็ตเตอร์ เจ้าของเก้าอี้ตัวเดิมที่ขอส่งชื่อตัวเองลงสมัครอีกครั้ง ยังมีตัวละครหน้าใหม่ปรากฏออกมาถึง 3 รายที่ขอสอดแทรกแย่งชิงอำนาจบริหารฟุตบอลทั่วโลกและปรับเปลี่ยนองค์กรลูกหนังที่กำลังเน่าเฟะทั้งการจัดการและภาพลักษณ์
ย้อนกลับไปก่อนหน้า การชิงตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของ ฟีฟา ถือว่าคึกคักไม่น้อย เพราะมีผู้ส่งรายชื่อลงสมัครเข้ามามากมายตั้งแต่ช่วงต้นปี นำโดย เฌอโรม ช็องปาญ อดีตรองเลขาธิการ ฟีฟา จากฝรั่งเศส ที่หมายมั่นดึง แบล็ตเตอร์ ตกเก้าอี้ให้ได้ เช่นเดียวกับ ดาวิด ชิโนลา ตำนานนักเตะทีมชาติฝรั่งเศส และ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ แต่แล้วทั้งคู่ก็ถอนตัวออกไปอย่างรวดเร็ว เพราะเสียงสนับสนุนน้อยเกินกว่าจะไปสู้รบปรบมือด้วย แม้แต่ มิเชล พลาตินี นายใหญ่ของ ยูฟา ที่เคยคิดจะลงสมัครด้วยแต่ก็ถอนไปแบบดื้อๆ
จนกระทั่งสิ้นสุดการส่งรายชื่อ วันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา สรุปแล้วมีผู้สมัครทั้งหมด 4 ราย เริ่มจาก ไมเคิล ฟาน ปราก์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลของ เนเธอร์แลนด์ และอดีตประธานของ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ทีมยักษ์ใหญ่แห่งเวที เอเรดิวิซี ลีก โดยเหตุผลที่ลงท้าชิงเป็นเพราะต้องการล้างภาพลักษณ์ขององค์กร ฟีฟา ที่ปัจจุบันดูจะดำดิ่งขาดความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะเรื่องของความไม่โปร่งใสมากมายที่เกิดขึ้นในยุคของท่านประธานชาวสวิส
บอสใหญ่จากแดนกังหันลม วัย 67 ปี เชื่อว่าตัวเองเป็นผู้เหมาะสมที่สุดเพราะมีประสบการณ์ควบคุมดูแลวงการฟุตบอลแดนกังหันลมมาอย่างยาวนาน ไม่มีเรื่องเสื่อมเสียเกิดขึ้น และมั่นใจว่าตัวเองจะเป็นผู้กอบกู้ ฟีฟา ให้กลับมาเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถืออีกครั้ง แน่นอนว่าดูมีความจริงใจพอสมควรแต่ยังค่อนข้างน่ากังวลว่าบรรดาชาติสมาชิกจะลงคะแนนเสียงให้มากน้อยเพียงใดเพราะเสียงส่วนใหญ่ไปอยู่ข้าง แบล็ตเตอร์ ทั้งสิ้น
ต่อมาคือ เจ้าชาย อาลี บิน อัล ฮุสเซน รองประธาน ฟีฟา จาก จอร์แดน ที่ทำงานอยู่ใกล้มือของประธานคนปัจจุบันมาตลอด แน่นอนว่าคงรู้ไส้รู้พุงดีไม่น้อยว่าองค์กรที่รับใช้อยู่มีปัญหาภายในเสื่อมเสียอย่างไรบ้าง โดย เจ้าชายวัย 39 ปี หมายมั่นปั้นมือทำให้กีฬาฟุตบอล พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นและใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้าช่วย ไม่ล้าหลังเหมือนในอดีต แต่ถือว่าเสี่ยงไม่น้อยเพราะหากพลาดหวังมีสิทธิ์ถูกมือที่มองไม่เห็นอัปเปหิจากเก้าอี้รองประธานลูกหนังโลกก็เป็นได้
ด้าน หลุยส์ ฟิโก ตำนานแข้งทีมชาติโปรตุเกส และ รีล มาดริด ก็ขอมีเอี่ยวด้วยโดยเป้าหมายของอดีตนักเตะยอดเยี่ยมจาก ฟีฟา ปี 2001 ไม่แตกต่างกับสองคนแรกคือต้องการล้างภาพลักษณ์ขององค์กรให้ดูใสสะอาด “ถ้าคุณค้นชื่อ ฟีฟา ในอินเตอร์เน็ต คำแรกที่คุณจะได้เห็นเลยคือ ขี้โกง นั่นไม่ใช่คำพูดที่ดีเลยสักนิด ผมคุยกับผู้คนในวงการฟุตบอลมากมาย และพวกเขาก็มองในทิศทางเดียวกันคือถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูป ฟีฟา ไม่ให้เน่าเฟะไปกว่านี้”
ตำนานแข้งวัย 42 ปี ถือเป็นขวัญใจของแฟนบอลทั่วโลกจากฝีเท้าอันเอกอุและรางวัลมากมาย แต่หลังจากแขวนสตั๊ด ปัญหาคือไม่เคยมีประสบการณ์บริหารองค์กรฟุตบอลใดๆ มาก่อน ดังนั้นยากเหลือเกินที่จะสร้างความดึงดูดใจให้ชาติสมาชิกและผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเปลี่ยนใจหันมาเชียร์ได้ และอาจกลายเป็นแค่ตัวละครรับเชิญที่ถูกดึงมาสร้างสีสันให้กับการเลือกตั้งหนนี้เท่านั้น
รายสุดท้ายแน่นอนว่าคือ แบล็ตเตอร์ ที่ยึดตำแหน่งนายใหญ่ ฟีฟา มาแล้ว 4 สมัยติดต่อกัน ด้วยอำนาจและบารมีต่างๆ ที่สั่งสมมา บวกกับการที่มีชาติสมาชิกคอยสนับสนุนอยู่ทั่วทุกมุมโลก เก้าอี้ประมุขลูกหนังสมัย 5 คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม แม้ว่าจะไม่เคยมีผลงานหรือเรื่องน่าชื่นใจใดๆทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรดีขึ้น แถมมีแต่เรื่องอื้อฉาวตลอดเวลาที่ครองตำแหน่ง จนน่าตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ชาติสมาชิกจะตัดสินใจเปลี่ยนผู้นำหรือปล่อยให้ ฟีฟา เน่าเหม็นต่อไป
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *