xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเที่ยวผนึกความเร็ว “เซปัง โมเดล” สู่บุรีรัมย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เซปัง” อยู่คู่วงการความเร็วมานาน 15 ปี
ASTV ผู้จัดการรายวัน - หากเอ่ยถึงการประลองความเร็วระดับโลกอย่าง ฟอร์มูลา วัน หรือ จักรยานยนต์ทางเรียบ โมโต จีพี ย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แฟนๆ ก็ย่อมนึกถึงรายการ “มาเลเซียน กรังด์ปรีซ์” ซึ่งได้รับความไว้วางใจจัดการแข่งขันมานานราว 15 ปี ทว่าสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่กำลังจะขึ้นมาทาบรัศมีภายในภูมิภาคเดียวกัน เชื่อว่าชาวไทยต่างคาดหวังสนามแห่งใหม่ของจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปหมาดๆ

สนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต ถูกสร้างขึ้นด้วยงบประมาณสูงกว่า 2 พันล้านบาท ได้รับการการันตีคุณภาพจาก สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (เอฟไอเอ) ผ่านมาตรฐานเกรด 1 ซึ่งสามารถรองรับการซิ่งรถสูตรหนึ่ง ประเดิมจัดการแข่งขันซูเปอร์คาร์ รายการ “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซูเปอร์ จีที เรซ 2014” วันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา สร้างความคึกคักแก่วงการมอเตอร์สปอร์ตบ้านเราไม่น้อย

ก่อนหน้าจะรับหน้าที่เจ้าภาพการซิ่งจักรยานยนต์ทางเรียบ 2 รายการใหญ่ ประกอบด้วย “เอเชีย โรด เรซซิง (ARRC)” (8-9 พ.ย.) และ รายการ “อาร์ทูเอ็ม ไทยแลนด์ ซูเปอร์ไบค์” (13-14 ธ.ค.) มีรายงานว่า ฟรานโก อันชินี เจ้าหน้าที่ดูแลด้านความปลอดภัยของ สมาพันธ์จักรยานยนต์นานาชาติ (FIM) กับ ฆาเบียร์ อลอนโซ ประธาน “ดอร์นา สปอร์ต” เจ้าของลิขสิทธิ์ เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ (WSBK) และ โมโต จีพี มาตรวจความพร้อม เมื่อวันที่ 20-21 ตุลาคมที่ผ่านมา และหากผ่านมาตรฐานเกรด A ก็จะมีสิทธิ์จัดการแข่งขันระดับสูงสุดอย่าง โมโต จีพี

พร้อมกันนี้ อลอนโซ หมายมั่นปั้นมือขยายตลาด โมโต จีพี ย่านเอเชียอาคเนย์ นอกเหนือจากเบิกทางแก่ประเทศไทย ด้วยการจัด เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ ฤดูกาล 2015 และหากผลตอบรับเป็นไปตามความคาดหวัง บุรีรัมย์ ก็อาจถูกบรรจุอยู่ในปฏิทิน โมโต จีพี ฤดูกาล 2016 ซึ่งแฟนๆ ชาวไทยก็ต้องร่วมลุ้นกันว่า การตรวจความพร้อมครั้งต่อไป เดือนธันวาคมนี้ว่าบทสรุปจะลงเอยอย่างไร

ตามแนวคิดของ นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และเจ้าของสนาม ช้าง อินเตอร์เนชันแล เซอร์กิต ก็หวังปลุกปั้น บุรีรัมย์ เป็นมหานครแห่งกีฬา รวมถึงการยกระดับบ้านเกิดสู่สถานะเมืองแห่งการท่องเที่ยว ชัดเจนว่าโปรเจ็กต์เช่นนี้ก็ดูจะคล้ายคลึงกับ มาเลเซีย พอสมควร

“เสือเหลือง” เติบโตด้านการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่กลายเป็นสวรรค์ของเหล่านักชอปปิ้ง ติดอันดับ 2 ของทวีปเอเชีย กอปรกับการทำหน้าที่เจ้าภาพการแข่งขันรถสูตรหนึ่ง และโมโตจีพี ซึ่งก็ดูจะได้รับความนิยมจากประชากรท้องถิ่นค่อนข้างสูง เนื่องจากมีนักบิดท้องถิ่นร่วมชิงชัย อาทิ อาฟิซห์ ไซยาห์ริน, อาซลาน ชาห์ จากรุ่น โมโต ทู และ ซุลฟาห์มี ไครุดดิน ที่เคยคว้ารองแชมป์ในบ้านเกิด ปี 2012 กับ ฮาฟิค อาซมี รุ่นโมโต ทรี รวมกับชาวต่างชาติที่แห่แหนกันมาชมถึงขอบสนาม ย่อมส่งผลให้ เซปัง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต ตีตราจองพื้นที่บนปฏิทินแต่ละซีซัน

สำหรับการเดินทางมายังลานประลองความเร็ว “SIC” ก็ดูจะสะดวกสบา สำหรับทีมงาน เอฟวัน และ โมโต จีพี เนื่องจากใช้เวลาเดินทางจากท่าอากาศยานแห่งชาติกัวลาลัมเปอร์ (KLIA) ประมาณ 15 นาที หากรวมปัจจัยเหล่านี้เข้าด้วยกัน ก็จะพบว่า การจัดมอเตอร์สปอร์ตชั้นนำของโลก ไม่ได้มีเพียงสนามอันหรูหราและผ่านเกณฑ์มาตรฐานเกรด A เท่านั้น แต่ก็ต้องพิจารณาแง่ธุรกิจและปัจจัยอื่นๆ ควบคู่กันไป

ย้อนกลับมา บุรีรัมย์ ต้องยอมรับว่า อยู่ห่างจากเมืองหลวงมาก และสาธารณูปโภคต่างๆ ก็ยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มาเยือนอยู่พอสมควร ส่วนประเด็นการท่องเที่ยว ก็มีทั้งโบราณสถานหลายแห่ง เช่น ปราสาทหินพนมรุ้งและอื่นๆ แน่นอนว่า ไทยย่อมไม่แพ้ชาติในในโลก เรื่องเดียวที่ยังเป็นคำถาม คือ กีฬามอเตอร์สปอร์ตในบ้านเราก็ดูจะซบเซามานาน

หากประชากรท้องถิ่นไม่รู้สึกตื่นตัว กอปรกับองค์กรฝ่ายบริหาร ไม่เล็งเห็นความสำคัญของการจัดกีฬามอเตอร์สปอร์ตระดับโลก อันถือเป็นหน้าเป็นตาและการกอบโกยรายได้เขาประเทศอย่างมหาศาล หากขาดเสาหลักท้งสองคอยค้ำจุน ก็เป็นงานยากที่จะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลที่ต้องช่วย ผลักดัน “CIC” ขึ้นสู่สังเวียนหมายเลข 1 ของอาเซียน

* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


แฟนๆ แห่ชมแน่นอัฒจันทร์
“CIC” สนามแข่งรถเบอร์ 1 ของไทย
เนวิน (ที่ 2 จากขวา) ผู้นำพลิกโฉมบุรีรัมย์
กำลังโหลดความคิดเห็น