สร้างความฮือฮาตั้งแต่ครั้งประกาศว่าจะสร้างแล้ว สำหรับสนามการแข่งขันรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทางเรียบระดับสากล ภายใต้ชื่อ “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต” และล่าสุดในวันแถลงความพร้อมซึ่งเปิดให้สื่อมวลชนได้เข้าชมอย่างเป็นทางการครั้งแรก ได้แจ้งเปลี่ยนใช้ชื่อใหม่ว่า “ช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต” หรือ “CIC” โดยมีคิวประเดิมใช้เป็นสังเวียนชิงเจ้าความเร็วในรายการซูเปอร์ จีที วันที่ 4-5 ตุลาคมนี้
โดยก่อนนับถอยหลังรอคอยการเปิดสนาม และเพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมเกมการแข่งขัน “ASTVผู้จัดการมอเตอริง” รวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับสนามแห่งนี้ และนำมาฝากแฟนๆ กีฬามอเตอร์สปอร์ตที่เตรียมตัวเดินทางไปสัมผัสบรรยากาศถึงขอบแทร็กโดยเฉพาะ
1. หนึ่งเดียวในไทย
อันดับแรกขอย้ำอีกครั้งว่า นี่คือสนามหนึ่งเดียวในเมืองไทยที่ได้มาตรฐานระดับสูงสุด โดยผ่านการรับรองจากสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ หรือ FIA เกรด 1 ซึ่งสามารถจัดการแข่งขันรถสูตรหนึ่งหรือฟอร์มูลา วัน ได้เลยทีเดียว
ขณะที่แฟนๆ วงการสองล้อ ฝั่งของ FIM หรือสหพันธ์กีฬาแข่งรถจักรยานยนต์โลกยังคงยึดระดับสูงสุดที่ เกรด A เช่นเดิม และชัดเจนว่าเป็นสนามที่รองรับรายการแข่งขวัญใจเหล่านักบิดอย่างโมโตจีพีแน่นอน รวมถึงในสนามยังติดตั้งระบบไฟส่องสว่างมาตรฐาน FIA สามารถรองรับการแข่ง Night Race หรือในช่วงเวลากลางคืนได้อีกด้วย
2. แห่งเดียวในโลก
นอกจากได้มาตรฐานระดับสูงสุดแล้ว หากนำคุณลักษณะเด่นไปเปรียบเทียบกับสนามแข่งขันระดับอินเตอร์ฯ ในต่างประเทศ สนามแห่งนี้นับเป็นเพียงสนามเดียวในโลกที่มีการวางตำแหน่งที่นั่งแกรนด์สแตนด์สำหรับผู้ชม ซึ่งสามารถมองเห็นการแข่งขันในสนามได้รอบทุกโค้งแบบ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม
ขณะเดียวกัน อภิมหาโปรเจกต์ที่ใช้เงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ในแง่ของความรวดเร็วด้านการก่อสร้าง ด้วยระยะเวลาเพียง 1 ปี 5 เดือน ยังอาจถือว่าเป็นสนามที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสูงสุดทั้งสองสมาพันธ์ที่สร้างเสร็จเร็วที่สุดด้วย (รอการยืนยันอีกครั้ง)
3.ก้าวแรกของช้าง
“นับจากวันนี้สนาม บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จะใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต และขอยินดีต้อนรับช้างสู่การเป็นผู้สนับสนุนด้านวงการมอเตอร์สปอร์ตครั้งแรก” เป็นคำกล่าวของ เนวิน ชิดชอบ ประธานที่ปรึกษาโครงการฯ ในวันแถลงข่าวความพร้อมของสนาม โดยไม่มีการเปิดเผยตัวเลขและระยะเวลาการเป็นสปอนเซอร์ของช้าง
อย่างไรก็ตาม สนามแห่งนี้เปิดกว้างให้กับผู้สนับสนุนในวงการมอเตอร์สปอร์ตทุกราย ตามที่บิ๊กเน ย้ำชัดว่า “สำหรับใครที่คิดว่าเราใช้สปอนเซอร์และชื่อสนามเป็นช้าง และจะไม่ให้ทีมอื่นๆ เช่น สิงห์ มาลงสนามแข่ง ขอให้เข้าใจใหม่ว่า สิงห์ก็มาแข่งได้ และวันหนึ่งเราจะเห็นช้างกับสิงห์มาแข่งขันกันในสนามเดียวกัน”
4. รู้หรือไม่! บุรีรัมย์มีสนามบิน
สำหรับการเดินทางมาสู่ดินแดนที่เจ้าของโปรเจกต์พันล้าน ตั้งใจขนานนามให้ใหม่ว่าเป็นปลายทางของความเร็ว หรือ Destination of Speed หรือก็คือ จังหวัดบุรีรัมย์ นั่นเอง
จากกรุงเทพฯ หากขับรถยนต์มาเอง จะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง หรือถ้าต้องการให้เร็วกว่านี้ สามารถนั่งเครื่องด้วยสายการบินนกแอร์ จากดอนเมืองมาลงที่ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และนั่งรถยนต์ต่อมาที่สนามได้เลย โดยจะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น
นอกจากการเดินทางที่สะดวกแล้ว ในส่วนของที่พัก บิ๊กเนชี้แจงว่า ปัจจุบันที่นี่มีโรงแรมรองรับนักท่องเที่ยวประมาณ 5,000 ห้อง และขณะนี้ได้รับการยืนยันจากนักลงทุนแล้วว่าในปี 2015 จะขยายเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ห้อง ซึ่งหากมีการจัดการแข่งขันระดับโลก หายห่วงเรื่องที่พักแน่นอน
5. เปิดซิงครั้งแรกนอกญี่ปุ่น
ปิดท้ายกับการประเดิมเปิดใช้สนามอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรายการ ซูเปอร์ จีที ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4-5 ตุลาคมนี้ โดยใช้ชื่อรายการว่า “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซูเปอร์ จีที” มีความน่าสนใจตรงที่ประเทศไทยถือเป็นชาติเดียวที่ได้รับสิทธิ์ให้เป็นเจ้าภาพสำหรับสนามแข่งนอกประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ในส่วนของราคาบัตรเข้าชม เริ่มต้นที่ราคา 500 บาท สำหรับสแตนด์เล็ก 4 จุดรอบสนาม ส่วนที่นั่งฝั่งแกรนด์สแตนด์ ราคา 1,500 บาท และที่นั่ง VIP อยู่เหนือแกรนด์สแตนด์ ราคา 5,000 บาท
อย่างไรก็ตาม สำหรับแฟนๆ กีฬาความเร็วที่ต้องการไปเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการมอเตอร์สปอร์ตเมืองไทย สามารถซื้อบัตรได้ที่หน้าสนามไอโมบายสเตเดียม จังหวัดบุรีรัมย์ หรือซื้อผ่านระบบออนไลน์ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่ www.bric.co.th
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวในวงการยานยนต์ได้ที่หน้าแฟนเพจ ASTVผู้จัดการ Motoring