ASTV ผู้จัดการรายวัน – ปัญหากองเชียร์ฟุตบอลทะเลาะวิวาทมีมาอย่างยาวนานทั้งในและต่างประเทศ แต่ล่าสุดสำหรับศึก โตโยต้า ไทย พรีเมียร์ ลีก เมื่อวันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะหนักข้อ โดยเกิดขึ้นหลังเกม เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด เปิดบ้าน เอสซีจี สเตเดียม เอาชนะ สิงห์ท่าเรือ 3-1 ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก สำหรับสถานที่คือนอกสนาม ทำให้พื้นที่บานปลายลุกลามใหญ่โตยากที่จะควบคุมได้ ดังนั้น คงถึงเวลาแล้วที่ผู้มีอำนาจสูงสุด คือ รัฐบาล ที่ดูแลความสงบสุของประเทศต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดและถกมาตรการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง
ที่ผ่านมา หลายสโมสรพยายามป้องกันการเกิดปัญหาการทะเลาะวิวาทของแฟนบอลด้วยการวางมาตรการต่างๆ ตามที่ บริษัท ไทย พรีเมียร์ ลีก (ทีพีแอล) กำหนด อาทิ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามจุดต่างๆ รอบสนามอย่างน้อยเกม 80 คน แยกทางเข้า-ออก ระหว่างแฟนบอลทั้งสองทีมอย่างชัดเจน ตรวจเข้มอาวุธต่างๆ รวมถึงขวดน้ำและของมึนเมา แต่ก็ไม่วายมีบางพวกที่จ้องจะก่อเรื่องดักรออยู่ภายนอกสนาม ซึ่งอยู่เหนือการควบคุมดูแลของสโมสร ดังนั้น การมีเรื่องดังกล่าวจึงไม่ต่างจากกรณีทะเลาะวิวาทหรือเด็กช่างกลตีกัน
โดย รณฤทธิ์ ซื่อวาจา ผู้อำนวยการสโมสร เอสซีจี เมืองทองฯ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หลังเกมกับ สิงห์ท่าเรือ เผยถึงเรื่องนี้ว่าเป็นวาระแห่งชาติ และถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยดูแล “ทุกวันนี้ปัญหาตีกันในสนามแทบจะไม่มีแล้ว เพราะแต่ละทีมต่างมีมาตรการที่เข้มงวด อย่าง เอสซีจี เมืองทองฯ ที่ใช้เงินกว่าครึ่งล้านในแต่ละแมตช์ สำหรับการจัดหน่วยรักษาความปลอดภัยกับคนตรวจตั๋วที่คอยตรวจเบื้องต้นรวมแล้วเกือบ 300 คนต่อนัด รวมถึงยังมีแผนรณรงค์ต่างๆ ซึ่งแฟนบอลเรารู้ดีว่าใครฝ่าฝืนทำผิดเราจับปรับจริง แต่อย่างในครั้งที่ผ่านมามันเกินขอบเขตการดูแลของสนามแล้ว เป็นเรื่องที่แฟนบอลตีกันนอกสนามซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ การที่หน่วยรักษาความปลอดภัยของเราจะไปควบคุมเหตุการณ์ด้วยวิธีใช้ความรุนแรงก็ไม่ได้ ทุกวันนี้ม็อบไม่กลัวตำรวจแล้ว เพราะหลายครั้งที่ไม่มีอำนาจจึงได้แต่ยืนมอง”
“ดังนั้น ต้องมาดูกันว่าใครที่จะเข้ามาช่วยดูแลจุดนี้ได้ ซึ่งผมมองว่าคงต้องเป็นเรื่องวาระแห่งชาติแล้ว รัฐบาลหรือกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลเรื่องกฎหมายโดยตรงควรจะเข้ามาช่วยดูแล ลงมากำหนดมาตรการที่ชัดเจนว่าหากเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทำอย่างไรได้บ้าง รวมถึงการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่ดูแลในส่วนของกีฬาโดยมีกฎหมาย พ.ร.บ.กีฬาอาชีพ ที่ช่วยเหลือนักกีฬาและแฟนบอลรองรับอยู่ เหมือนที่ต่างประเทศเขาทำ พวกนั้นเขาเด็ดขาดมีทั้งม้าและอาวุธเข้าสลายการจลาจล” เสี่ยเป้ เผย
รณฤทธิ์ ทิ้งท้ายว่า “ขณะที่ในส่วนของสโมสรต้องมาดูว่าจะจัดการอย่างไร จะมีรถรับส่งกองเชียร์เวลาเป็นทีมเยือนเลยดีไหม แข่งจบก็ขึ้นรถกลับเลยห้ามออกนอกเส้นทาง หรือต้องมีการลงทะเบียนแฟนคลับ มีไอดีการ์ดของแต่ละคน เราจำต้องตัดแยก และสกรีนพวกส่วนน้อยที่ใช้สีเสื้อสโมสรสร้างความรุนแรงออกไป หรืออย่างเช่นมาตรการที่เราอยากจะไม่ให้มีแฟนบอลทีมเยือนเข้ามาเชียร์ยามที่เล่นที่บ้านเรา รวมถึงห้ามแฟนเราไปเชียร์ยามที่เป็นทีมเยือนนั้นถือเป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้นในตอนนี้ เพราะทุกวันนี้เราก็ไม่รู้ว่าแต่ละทีมมีใครแอบอ้างเข้ามาเพื่อที่ต้องการจะปลุกระดมหรือเปล่าไม่ใช่เราไม่มีเหตุผล และที่สำคัญที่สุดคือประธานแฟนคลับของทุกทีมต้องเลิกอคติ ยุติการยั่วยุเพราะตอนนี้ชีวิตของแฟนบอลมีค่ามากกว่า 3 แต้ม”
ด้าน ร.ต.ต.ธนู เหลืองธวัชชัย สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี ผู้สั่งการคุมกองร้อยควบคุมฝูงชนในเหตุการณ์ดังกล่าวยอมรับว่าอยู่เหนือกำลังของเจ้าหน้าที่ “อำนาจควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการที่จะไปคุมแฟนบอล เราจะมีแค่อาวุธเบาคือ โล่ และกระบองไปเท่านั้น ในส่วนของพวกแก๊สน้ำตา หรือกระสุนยาง แม้กระทั่งกระสุนจริง จะไม่สามารถติดตัวไปได้ ซึ่งหน้าที่หลักของเราคือการประนีประนอม และการเข้าไปห้ามปราม ไม่สามารถใช้ความรุนแรงใดๆ กับประชาชนได้เลย ต้องขึ้นกับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งในอย่างกรณีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเกินกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 กองร้อย เพราะฝูงชนที่ก่อเหตุเยอะมาก”
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อเสนอแนะเข้ามาแต่ ดร.องอาจ ก่อสินค้า ประธานบริษัท ไทย พรีเมียร์ ลีก จำกัด ได้ปิดท้ายว่าเรื่องดังกล่าวยังต้องปรึกษากันหลายฝ่ายเพราะมีข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวพัน “ตอนนี้เราทำได้เพียงแค่ให้ทีมที่มีปัญหาบ่อยครั้งแจ้งขอเพิ่มกำลังรักษาความปลอดภัยให้แน่นหนาขึ้น หากเป็นไปได้อยากให้ครอบคลุมพื้นที่โดยรอบสนามที่สุ่มเสี่ยงด้วย อย่างไรก็ตามเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากนี้คงต้องมาหารือกันอีกครั้ง เพราะจะมีเรื่องของข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง”
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *