ASTVผู้จัดการรายวัน - ทัพวอลเลย์บอลสาวทีมชาติไทย ที่ติดลมบนและกลายเป็นชนิดกีฬาความหวังในทุกทัวร์นาเมนต์ที่ลงแข่งขันจวบจนทุกวันนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน เพราะต้องอาศัยระยะเวลา โดยเฉพาะแกนหลักอย่าง วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ หรือ ปลื้มจิตร์ ถินขาว รวมไปถึงดาวรุ่งอย่าง ปิยะนุช แป้นน้อย และ พรพรรณ เกิดปราชญ์ กว่าจะก้าวมาจนถึงทุกวันนี้ ล้วนต้องบ่มเพาะฝีมือไล่ตั้งแต่รั้วโรงเรียนไต่เต้าไปจนถึงระดับสโมสรก่อนที่จะมีธงไตรรงค์ติดที่หน้าอก ดังนั้นสถาบันเหล่านี้จึงถือเป็นเบื้องลึกเบื้องหลังความสำเร็จอย่างแท้จริง
ลูกยางสาวไทยกอบโกยความสำเร็จอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นแชมป์เอเชีย 2 สมัย ตามด้วยแชมป์ ซีเกมส์ สมัยที่ 11 ซึ่งเบื้องหน้าที่ทุกคนเห็นและยกความดีความชอบให้ก็คือ สมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย รวมไปถึงฝีมือของ “โค้ชอ๊อต” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ที่ดึงศักยภาพผู้เล่นแต่ละคนออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด แต่ถ้าย้อนไปไกลกว่านั้นฉากหลังของนักกีฬาแต่ละคนนั้นล้วนมีที่มาไม่ต่างกันก็คือฝึกปรือฝีมือจากระดับโรงเรียน
ซึ่งกว่าจะได้ชื่อว่าเป็น “กัปตันกิ๊ฟ” ดังเช่นทุกวันนี้ วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ เติบโตขึ้นมาจากทีมวอลเลย์บอลหญิงนครราชสีมา ที่ล่าสุดได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันสโมสรชิงชนะเลิศแห่งเอเชียครั้งที่ 17 โดย “อาจารย์แดง” สุทธิชัย ชาญบัญชี โค้ชลูกยางสาวทีม “แคทเดวิว” กล่าวว่า “สโมสรเราจะเน้นการสร้างเยาวชนในพื้นที่ โดยดึงตัวนักกีฬาจากโรงเรียนใน จ.นครราชสีมา เช่น ร.ร.สุรนารีวิทยา ที่ได้ วิลาวัลย์ มาจนก้าวไปขึ้นสู่ทีมชาติไทย สโมสรยังได้ปั้น ปิยธิดา ละสูงเนิน, หัตถยา บำรุงสุข ซึ่งเป็นตัวหลักของทีมโคราชก็มีแววในการเล่นทีมชาติเหลือเพียงรักษาอาการบาดเจ็บให้ดีขึ้นและสโมสรยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างดาวดวงใหม่ขึ้นมาเพื่อแทนที่รุ่นพี่ไปอย่างต่อเนื่อง”
ขณะที่อีกหนึ่งสโมสรในวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก อย่าง สุพรีม-ชลบุรี ถือเป็นที่สร้างจอมตบบอลกลางยอดเยี่ยมของไทยอย่าง “หน่อง” ปลื้มจิตร์ ถินขาว โดยผู้จัดการทีม ศยาม สังฆรมย์ เปิดเผยถึงแนวทางว่า “สุพรีม-ชลบุรี ได้มีการสร้างอคาเดมีโดยใช้เด็กจาก ร.ร. บดินทรเดชา ซึ่งจะมีอาจารย์ณิพน แจ่มแจ้ง ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์ของโรงเรียนบดินทรเดชา และผู้ฝึกสอนของทีมเป็นผู้คัดเลือกนักกีฬา แนวทางของสโมสรคือสร้างผู้เล่นตั้งแต่รุ่น 14 ปีเพื่อให้พัฒนาความสามารถต่อยอดไปถึงทีมชาติ เพื่อให้มีบุคลากรทางการกีฬาไว้ใช้อย่างต่อเนื่อง”
ไม่ใช่แค่ วิลาวัณย์ กับ ปลื้มจิตร์ เท่านั้น เพราะนักกีฬาหลายรายมีจุดเริ่มต้นไม่ต่างกันมากนัก โดย “ชมพู่” พรพรรณ เกิดปราชญ์ ถือเป็นผลผลิตของ โรงเรียนบ้านนกเหาะ จ.นครพนม ก่อนที่จะดันตัวเองเข้ามาเป็นหนึ่งในนักเรียนโครงการดาวรุ่งมุ่งทีมชาติ กล่าวว่า “ส่วนตัวเริ่มเล่นกีฬาวอลเลย์บอลตั้งแต่ศึกษาอยู่ระดับมัธยมต้น ก่อนย้ายมาเรียนในโรงเรียนกีฬา จ.อ่างทอง และได้รับโอกาสให้เป็นหนึ่งในโครงการดาวรุ่งมุ่งทีมชาติ ทำให้มีโอกาสติดชุดเยาวชนทีมชาติรุ่นอายุ 16 ปี และไต่ระดับมาจนถึงทีมชาติชุดใหญ่”
อาจารย์อภิรัตน์ งามมีฤทธิ์ อาจารย์สอนพละ ร.ร.บ้านนกเหาะ กล่าวถึงการสร้างเยาวชนสู่ทีมชาติว่า “ในฐานะครูเป็นเพียงผู้สร้างส่วนหนึ่งเท่านั้น อย่าง ชมพู่ ที่สามารถเป็นหนึ่งในผู้เล่นทีมชาตินั้น เป็นความตั้งใจของเจ้าตัวที่มีมาตั้งแต่เด็ก ถึงแม้จะใช้เวลาไม่นานก็ได้รับโอกาสให้เล่นทีมชาติแต่ก็ยังต้องพัฒนาเทคนิค และขยันฝึกซ้อม จึงอยากจะฝากถึงเยาวชนรุ่นต่อไปว่าขอให้มีความตั้งใจ แล้วความสำเร็จก็จะมาหาเราเอง”
ด้าน “น้องแป้น” ปิยะนุช แป้นน้อย และ “น้องเพียว” อัจฉราพร คงยศ 2 นักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยชุดแชมป์เอเชีย ล้วนถูกบ่มเพาะมาจาก “โรงเรียนบ้านขอนหาด” จ.นครศรีธรรมราช เป็นสถานที่สร้างทั้ง 2 คนจนก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จ “สมัยเด็กๆ ได้ติดตามพี่ชายที่เป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลของโรงเรียนมาวิ่งเล่นที่โรงเรียน จนกระทั่ง อาจารย์สมยศ พงศาปาน จับให้มาเล่นวอลเลย์บอล ซึ่งสมัยนั้นต้องเล่นและฝึกซ้อมบนพื้นสนามปูน ทำให้มีแผลติดตัวทุกวัน แต่แม้จะเจ็บก็ยังคงเล่นต่อไป เพราะรู้สึกหลงรักในกีฬาชนิดนี้” ปิยะนุช กล่าว
ขณะที่อาจารย์สมยศ ซึ่งเป็นผู้ปลุกปั้นทั้ง 2 คน รวมทั้งผลักดันให้ได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนบดินทรเดชา ซึ่งถือเป็นโรงเรียนที่ให้การสนับสนุนกีฬาวอลเลย์บอลเป็นอย่างมาก จนทำให้ทั้ง 2 คนก้าวขึ้นมาติดทีมชาติในที่สุด “ทั้ง 2 คนถือเป็นต้นแบบของนักกีฬาเยาวชนที่สามารถก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะน้องเพียว ที่ประสบปัญหาทางบ้าน จนครูต้องสนับสนุนให้เล่นกีฬาและเอาตัวมาพักอยู่ที่บ้านด้วยกัน แต่ขณะที่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็สามารถคว้าแชมป์วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชียมาครองได้ ในฐานะอาจารย์ก็ยังคงสร้างต้นกล้ารุ่นต่อไป ส่วนใครจะประสบความสำเร็จถึงขั้นไหนต้องอยู่ที่การวางตัวต้องไม่หลงระเริงไปกับความสำเร็จ และเงินทองที่หลั่งไหลเข้ามา เชื่อว่าในอนาคตจะมีเยาวชนอีกมากที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญให้กับทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ทดแทนรุ่นพี่ที่อายุเริ่มมากขึ้น”
ทั้งนี้ทั้งนั้น โรงเรียนต่างๆ ถือเป็นสถานที่ชั้นดีของจุดเริ่มต้นเพื่อเฟ้นหาเยาวชนขึ้นมาประดับทีมชาติ โดยทัพ “ลูกยาง” ถือเป็นแบบอย่างสำหรับกีฬาชนิดอื่นที่คิดจะสร้างรากฐานในระยะยาว ซึ่ง สมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ก็ต้องให้การสนับสนุน มีทัวร์นาเมนต์ให้แข่งขันอย่าง วอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก เพื่อพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เม็ดเงินก็ต้องช่วยเหลือทั้งต้นสังกัดและตัวนักกีฬา เพื่อนำไปพัฒนาจนต่อยอดมาถึงทีมชาติไทยต่อไป
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "MGR SPORT" รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *