ASTV ผู้จัดการรายวัน – หากกล่าวถึง “หมากล้อม” ที่มีต้นกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เชื่อแน่ว่าคงไม่เป็นที่แพร่หลายนักในเมืองไทย เพราะแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นกีฬา แต่ได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่ม อย่างไรก็ตาม นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ในฐานะประธานสมาพันธ์หมากล้อมจีน ไม่ได้มองเพียงแค่นั้น พร้อมชี้ว่าเป็นมากกว่าการแข่งขันที่สอนให้ผู้เล่นรู้จักวางแผนสร้างกลยุทธ์และสามารถนำมาต่อยอดควบคู่ไปกับการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้
กีฬาชนิดนี้มีอีกชื่อที่พอจะคุ้นหูกันคือ “โกะ” เป็นหมากกระดานที่มีมานานกว่า 3,000 ปี และเริ่มได้รับความนิยมในแถบเอเชีย แต่ผู้เล่นหมากล้อมในประเทศไทยส่วนใหญ่พัฒนามาจากการเล่นหมากกระดานชนิดอื่นเช่น หมากรุก หรือ หมากฮอส หลักก็จะแตกต่างกันไป ซึ่งหมากล้อมจีนไม่ได้เล่นเพื่อเอาชนะคู่แข่ง แต่จะเน้นการวางแผนและเดาใจคู่แข่งเพื่อให้เราเป็นฝ่ายกุมความได้เปรียบมากที่สุด
ศึกหมากล้อมจีนโลก “เหยียนหวงเปย” ครั้งที่ 15 ณ เมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เพิ่งรูดม่านไปเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งที่ได้รับความสนใจจากนักกีฬาประเทศต่างๆ ทั่วโลกทั้ง อเมริกา, ฝรั่งเศส, สิงคโปร์, รัสเซีย, แอฟริกาใต้, ออสเตรเลีย และเจ้าภาพจากทั่วประเทศจีนร่วมชิงชัย ขณะที่ประเทศไทยส่งตัวแทน 7 นักกีฬาร่วมประลองในครั้งนี้ โดยคุณกมล สันติพจนา อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่ปัจจุบันเป็นพนักงานของ บมจ.ซีพี ออลล์ สามารถทำผลงานดีที่สุดคว้าอันดับ 3 มาครอง สร้างความตื่นตัวให้วงการหมากล้อมในไทยพอสมควร
นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ที่มีดีกรีเป็นถึงนักหมากล้อมดั้ง 5 (สูงสุดดั้ง 7) เปิดเผยถึงวัตถุของการจัดแข่งที่สอดคล้องกับหลักของการเล่นหมากล้อม โดยไม่ได้เน้นเพื่อผลอย่างเดียว แต่เป็นการรวมตัวนักหมากล้อมทั่วโลกให้กลับมาพบหน้าและจัดแข่งขันอย่างน้อยปีละครั้ง ซึ่งปัจจุบันหมากล้อมได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย เนื่องจากนักธุรกิจจีน, ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ได้เป็นผู้เผยแพร่ไปยังชาติต่างๆ ยามที่เดินทางไปติดต่อธุรกิจหรืออพยพไปอยู่ในประเทศมหาอำนาจต่างๆ ทั้งออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ในฐานะประธานสมาพันธ์หมากล้อมจีนโลก ชี้ว่า การเล่น “โกะ” นอกจากจะเป็นศิลปะทางกีฬา ยังครอบคลุมถึงศาสตร์แขนงต่างๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ เช่น ยุทธศาสตร์ในการรบ คณิตศาสตร์ ปรัชญา และแนวคิดในการบริหารจัดการองค์กร ที่ตนเองนำมาปรับใช้กับความสำเร็จธุรกิจร้านสะดวกซื้อ พร้อมให้เคล็ดลับว่า “หมากล้อมไม่ใช่เกมที่น่าเบื่อแต่สอนคนให้รู้จักวางแผน ยอมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นต้องคิดไว้หลายๆ ด้านและนำมาคิดว่าวิธีไหนจะทำให้เราประสบความสำเร็จ ได้เปรียบเสียเปรียบยังไง แถมยังฝึกคนให้มีความอดทน เพราะการเล่นแต่ละกระดานจะเต็มไปด้วยความกดดันต้องคิดและปรับแก้ตลอดเวลา ช่วยให้เรารับมือกับสถาวะต่างๆ ในการใช้ชีวิตการทำงานได้ดี”
“หมากล้อมเป็นกีฬาที่สร้างมิตรภาพระหว่างผู้เล่น และนำความรู้จุดแข็งที่ได้จากคู่แข่งมาปรับใช้ สอนให้เรายอมรับความพ่ายแพ้และเมื่อนั้นก็สอนให้เรารู้จักพัฒนาตนเอง ในปัจจุบันเยาวชนไทยหันมาเล่นหมากล้อมมากขึ้น ในมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่งเปิดรับนักหมากล้อมเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีในโควต้านักกีฬาและมีการแข่งขันในระดับมหาวิทยาลัย กีฬาแห่งชาติ ที่สำคัญปีนี้มีสปอนเซอร์เริ่มเข้ามาสนับสนุนใช้เป็นชื่อการแข่งขันในประเทศครั้งแรกถึง 3 รายการ” นายก่อศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ คุณกมล สันติพจนา เจ้าของอันดับ 3 หมากล้อมโลกที่เล่นมานาน 10 ปี และปัจจุบันทำงานใน บมจ.ซีพี ออลล์ เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเล่นโกะและการนำไปปรับใช้ในชีวิตว่า “หันมาเล่นกีฬาชนิดนี้ตามคำแนะนำของเพื่อนตั้งแต่สมัยเรียน และค่อยๆ พัฒนาฝีมือจนเริ่มแข่งขันรายการต่างๆ ในประเทศ โดยสอนให้เรามีวิธีการคิดที่เป็นระบบ คิดถึงผลที่จะได้และเสียหลังจากวางหมากหนึ่งตัวลงบนกระดาน หากเปรียบการใช้ชีวิตหรือทำงานจะช่วยให้เราคิดอย่างรอบครอบก่อนตัดสินใจเพื่อให้ได้ผลที่เป็นประโยชน์มากที่สุด”